กังขานโยบายรัฐบาล เพิ่ม-ลดภาษี 15% แก้เหลื่อมล้ำหรือเพิ่มภาระประชาชน

07 ธ.ค. 2567 | 00:02 น.

เปิดมุมมองนโยบายร้อนรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ภาคเอกชนกังขาแนวคิดปรับและลดฐานภาษีครั้งใหญ่ของประเทศ จุดหมายปลายทางช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ หรือซ้ำเติมเพิ่มภาระให้กับประชาชน

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความปรับเพิ่ม-ลดภาษี 15% แก้เหลื่อมล้ำหรือเพิ่มภาระประชาชน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ระบุว่า ประเด็นสุดฮอตในช่วงที่ผ่านมาคือแนวคิดของรัฐบาลในการปรับและลดฐานภาษีครั้งใหญ่ของประเทศ 

เจ้าของไอเดียเริ่มจากคุณทักษิณ ชินวัตร ได้พูดบนเวที “Forbes Global Conference” จัดโดยฟอร์บส มีเดีย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นัยคือกลไกลดภาษีผ่านนโยบายช่วยผู้มีรายได้น้อย หรือที่เรียกว่า Negative Income Tax 

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

ต่อมารัฐมนตรี ซึ่งดูแลกระทรวงการคลังออกมารับลูก ประกาศที่จะเพิ่มและลดภาษี 3 ฐานหลักภาษีของประเทศอย่างเป็นระบบ กล่าวคือการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จาก 7% เป็น 15% และปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเพดาน 35% ลงมาเหลือ 15% รวมถึงลดภาษีนิติบุคคลซึ่งเก็บจากกำไรของสถานประกอบการจาก 20% เหลือ 15%

ประเด็นดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลและวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากกระทบต่อภาระการใช้ จ่ายประชาชนและโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

ดร.ธนิต ระบุว่า เหตุและผลสำคัญอาจเนื่องมาจากงบประมาณของประเทศมีการขาดดุลอย่างต่อเนื่องจากภาระเบี้ยผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับประชากรสูงวัย 12.7 – 13 ล้านคน ใช้งบประมาณเป็นแสนล้านและเพิ่มมากยิ่งขึ้น หากมีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุและรายจ่ายดูแลรักษาพยาบาลแต่ละปีใช้เงินมากกว่า 3.83 แสนล้านบาท หรือ 2.14% ของ GDP 

ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเงินแจกหมื่นบาท หากประชาชนเสพติดต้องจ่ายทุกปีต้องใช้งบประมาณอีก 3 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาปี 2567 งบประมาณมีการขาดดุลถึง 6.93 แสนล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 8.65 แสนล้านบาท ส่งผลต่อหนี้สาธารณะที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น ลองมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยแยกเป็นฐานภาษีดังนี้

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

การปรับภาษี VAT หรือ Sales Tax เพดานภาษีอยู่ที่ไม่เกิน 10% มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนกล้าปรับขึ้น ปัจจุบันเก็บอัตรา 7% เป็นเงินรายได้ภาษี 9.16 แสนล้านบาท หากเพิ่มเป็น 15% จะทำให้รายได้ภาษี VAT เป็น 1.96 ล้านล้านบาท เฉพาะเงินเพิ่มจากภาษี VAT เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละหนึ่งล้านล้านบาท

สำหรับเงินที่เพิ่มขึ้นสามารถนำมาโปะรายจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยม ผลที่ตามมาราคาสินค้าจะแพงขึ้นแบบถ้วนหน้าเพราะสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงบริการล้วนต้องผ่านกระบวนการโซ่อุปทานผลิตซ้ำหลายชั้น ซึ่งล้วนต้องเสียภาษี VAT ถึงแม้ว่าจะสามารถขอคืนภาษีได้ ประมาณว่าหากใช้จริงจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น 15-20% 

แน่นอนว่าจะกระทบประชาชนอย่างรุนแรงในหลายประเทศ โดยภาษี VAT สามารถแยกได้หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดหรือลักษณะของสถานประกอบการ

ดร.ธนิต มองว่า ภาษี VAT อัตราที่เก็บในประเทศไทย 7% เพดานสามารถเก็บได้ 10% ซึ่งรัฐบาลสามารถทยอยปรับขึ้นได้ ขณะเดียวอัตรา 15% เป็นภาษีที่แพงเกินไปขอยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ปรับจาก 8% เป็น 10%, อินโดนีเซีย อัตรา 11%, ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 10% แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐไม่เท่ากันเก็บอัตรา 7 – 12% ส่วนประเทศที่เก็บภาษีแรง เนื่องจากมีสวัสดิการที่สูง คือ สวีเดนอัตรา 25%

ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)

เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากประชาชนที่มีรายได้พึงประเมิน รูปแบบการจัดเก็บเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 0 – 35% ที่ผ่านมามีผู้ยื่นแบบเสียภาษีจำนวนประมาณ 14.1 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 4.53 ล้านคน หรือคิดเป็น 32.2% ปีที่ผ่านมา คิดเป็นรายได้จากภาษีประมาณ 3.99 แสนล้านบาท

ประเด็นคือที่กล่าวว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน แต่ภาษีใหม่ที่จะปรับ 15% เป็นแบบ Flat Rate คืออัตราคงที่เก็บเท่ากันหมดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน/รายวัน อัตราขั้นต่ำหรือเจ้าสัว ซึ่งเคยเสียภาษี 35% จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง คงจะรวยอู่พู่กันมากขึ้นแล้วจะเรียกว่าลดความเหลื่อมล้ำได้ตรงไหน 

อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมของไทยใกล้เคียงกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย สำหรับญี่ปุ่นอัตราภาษี 5 – 45% เกาหลีใต้ 6 – 45% จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศอัตราภาษีจะเป็นแบบขั้นบันไดไม่ได้ใช้แบบอัตราคงที่เหตุผล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

ภาษีนิติบุคคล (Corporate Income Tax)

คือภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรของสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคล ปัจจุบันอัตราเก็บอยู่ที่ 20% ปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 7.03 แสนล้านบาท แนวคิดของรัฐบาลคือจะลดเหลือ 15% เพื่อกระตุ้นให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ 

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ภาษีนิติบุคคลเก็บในอัตราคล้ายกับของไทย 20% ขอยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น เวียดนามเก็บ 20%, อินโดนีเซีย 22%, สิงคโปร์ 17%, เกาหลีใต้เพดาน 24%, ประเทศจีน แต่ละมณฑลไม่เท่ากัน 25 - 27%

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมีช่องทาง BOI ภาษีอัตราศูนย์ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ (FDI) สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ 

ดร.ธนิต เห็นว่า ขณะนี้ไม่จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องไปลดภาษีนิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจที่มีกำไร ก็ควรเสียภาษี โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่มีกำไรหลักเป็นพันถึงหลายหมื่นล้าน บางรายเป็นหลักแสนล้าน จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะไปลดภาษีให้กับกลุ่มทุนเหล่านั้นให้ รวยและรวยขึ้นไปอีก ในที่สุดเงินเหล่านั้น จะกลับเข้ามาแย่งพื้นที่ทุนรายย่อยและครอบงำผูกขาดตลาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

ดังนั้นแนวคิดการปรับ-ลดภาษีอัตรา 15% แบบถ้วนหน้า จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่กลับเพิ่มความเหลื่อมล้ำและเพิ่มภาระให้กับประชาชน