เริ่มแล้ว! ไทยถูกสหรัฐฯประกาศเก็บภาษีนำเข้าแผงโซล่าร์

30 พ.ย. 2567 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 10:00 น.

สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จาก 4 ประเทศอาเซียน ไทยถูกเก็บ 77.85% สำหรับผลิตภัณฑ์บริษัท ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) ของจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์รอบใหม่จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากผู้ผลิตในสหรัฐร้องเรียนว่า บริษัทในประเทศเหล่านั้นทำการทุ่มตลาดสหรัฐฯ ด้วยสินค้าราคาถูกอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ นับเป็นการตัดสินเบื้องต้นเป็นครั้งที่สองของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯในปีนี้ หลังได้รับการยื่นร้องเรียนโดยฮันวา คิวเซลส์ (Hanwha Qcells) ของเกาหลีใต้, บริษัทเฟิร์ส โซลาร์ อิงค์ (First Solar Inc) ในรัฐแอริโซนา

รวมถึงผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายรายที่ต้องการปกป้องการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์ในสหรัฐฯ

คณะกรรมการการค้าสำหรับการผลิตแผงโซลาร์เซลล์แห่งอเมริกา (American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee) ได้กล่าวหา ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ของจีนที่มีโรงงานในมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทยว่า เป็นต้นเหตุทำให้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ทั่วโลกร่วงลงอย่างรุนแรงด้วยการทุ่มขายสินค้าในตลาดสหรัฐ

ตามการตัดสินเบื้องต้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) นั้น กระทรวงฯ ได้คำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (dumping duties) อยู่ระหว่าง 21.31% ถึง 271.2% โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทสำหรับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

บริษัทจินโก โซลาร์ (Jinko Solar) ถูกกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่

  • 21.31% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในมาเลเซีย
  • 56.51% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนาม

บริษัททรินา โซลาร์ (Trina Solar) ของจีน ถูกกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่

  • 77.85% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย
  • 54.46% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเวียดนาม

ในทางกลับกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของฮันวา คิวเซลส์ ที่ผลิตในมาเลเซีย โดยในเดือนตุ.ค. กระทรวงฯ ได้คำนวณอัตราเงินอุดหนุนสำหรับบริษัทอยู่ที่ 14.72%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะทำการตัดสินครั้งสุดท้ายในวันที่ 18 เม.ย. 2568 ขณะที่สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Administration) จะสรุปผลการตัดสินในวันที่ 2 มิ.ย. และคาดว่าจะประกาศคำสั่งสุดท้ายในวันที่ 9 มิ.ย.