ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบภายใต้ทรัมป์ 2.0 แนะไทยพึ่งตัวเองมากขึ้น

11 พ.ย. 2567 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:53 น.

ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบภายใต้ทรัมป์ 2.0 แนะไทยพึ่งตัวเองมากขึ้น อนุสรณ์ ธรรมใจเผยโลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม ระบุประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนจะตอบโต้ทางการค้า ผลสุทธิด้านสวัสดิการเศรษฐกิจสังคมโดยรวมโลกจะแย่ลง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของนโยบายกีดกันทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม และคาดว่าประเทศอื่นๆโดยเฉพาะจีนก็จะตอบโต้ทางการค้า 

ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลง จะสะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงในปีหน้า รวมทั้งอัตราการขยายตัวจีดีพี (GDP) ของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ประเทศจีนอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่งหากมีการขึ้นภาษีถึง 60% ในสินค้าทุกประเทศที่นำเข้าจากจีน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3% หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่นๆมาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ 

งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และธนาคารโลกล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่

การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้

นอกจากจะเกิดให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss) จะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา อาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯได้ การรักษาระบบการค้าเสรีของโลกต้องยึดถือระเบียบการค้าโลกที่ตกลงเอาไว้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบภายใต้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ระยะยาวแล้ว จะไม่มีใครได้ประโยชน์ และ มีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ารอบนี้ จะมีประเทศที่ได้ประโยชน์ ประเทศที่เสียประโยชน์แตกต่างกันไปตามโครงสร้างการค้าและเศรษฐกิจของประเทศนั้น รวมทั้งยุทธศาสตร์และความสามารถในการตอบสนองต่อความท้าทายนี้ นอกจากการแทรกแซงการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและการจ้างงานภายในแล้ว คาดการณ์ได้ว่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีก็อาจรุนแรงขึ้นเพื่อตอบโต้กัน 
 

จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า มาตรการทางการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ตั้งแต่ปี 2552-2567 มีจำนวนรวมมากกว่า 60,000 มาตรการ โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 18,000 มาตรการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมาตรการการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีทั้งหมด 

แนวโน้มในปีหน้า การกีดกันทางการค้าโดยอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมอาจเบาลงจากรัฐบาลสหรัฐฯในยุคโดนัล ทรัมป์ ที่ผ่านมา มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers, NTB) ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านเทคนิค (Technical barrier to Trade :TBT) ที่บังคับใช้แล้ว ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่มีการใช้มาตรการ NTB มากที่สุด คือ สหภาพยุโรป อันดับสอง คือ สหรัฐอเมริกา

ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบมากขึ้นภายใต้ทรัปม์ 2.0 นั้น ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับจ้างการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น ระบบการค้าโลกจะเป็นเรื่องของการต่อรองและการตอบโต้กันไปมา มากกว่าการทำกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้มาเป็นกรอบในการดำเนินการทางการค้า คือ จะเป็น Deal-Based มากกว่า Rule-Based มากขึ้น มีแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์อาจทบทวนบทบาทหรืออาจถอนตัวออกจาก Trans-Pacific Partnership 

และยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework ของรัฐบาลไบเดน ไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศใหม่เพื่อให้รับมือความท้าทายใหม่ๆ และ ไทยควรจะเตรียมตัวสำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% จากทุกประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2 คาดการณ์ได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และ ลดการพึ่งพาต่อจีนมากขึ้น เอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า สงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯในการสกัดกั้นการไล่กวดของจีน จะเพิ่มความได้เปรียบของการผูกขาด (Monopolistic Advantage) ของบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ความได้เปรียบนี้เกิดขึ้นจากสองปัจจัย หนึ่ง เป็นเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทสหรัฐฯและได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ปิดกั้นการลอกเลียนต่อยอด ข้อสอง การกระจายสินค้าไฮเทคและการสร้างแบรนด์ที่ผู้อื่นลอกเลียนได้ยาก