สงครามตะวันออกกลาง ทุบซํ้าเศรษฐกิจ สหรัฐส่อถดถอยลามกระทบไทย

07 ส.ค. 2567 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 03:59 น.

เศรษฐกิจไทยน่าห่วง มรสุมใน-นอกรุมซัดกระหน่ำ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐส่อถดถอย ไฟสงครามตะวันออกกลางจ่อปะทุรุนแรงรอบใหม่ 3 ศก.ใหญ่ “สหรัฐ-อียู-ญี่ปุ่น” อ่อนแรง ทุบส่งออกไทยวูบ 3 คดีใหญ่การเมืองกระทบเชื่อมั่น หอการค้าฯเร่ง 3 โปรเจ็กต์กระตุ้น อสังหาฯมองบวก ไทยบ้านหลังที่ 2

เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวเกิน 3% ในปีนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเวลานี้มีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกถาโถมเข้ามาแรงขึ้นทุกขณะ โดยปัจจัยภายนอกล่าสุดสงครามในตะวันออกกลางส่อขยายวง หลังผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้สั่งการให้โจมตีอิสราเอลโดยตรง เพื่อตอบโต้หลังอิสราเอลเป็นผู้ต้องสงสัยเหตุลอบสังหารอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาส ณ กรุงเตหะราน บนแผ่นดินอิหร่าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โลกจับตานับจากนี้ อิหร่านหรืออิสราเอลใครจะเปิดฉากโจมตีก่อนกัน

สงครามตะวันออกกลาง ทุบซํ้าเศรษฐกิจ สหรัฐส่อถดถอยลามกระทบไทย

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 โลกส่อเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จากล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยถึงตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตําแหน่ง ตํ่ากว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 177,000 ตําแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ179,000 ตําแหน่งในเดือนมิถุนายน ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมแตะระดับ 4.3% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

3 ฉากทัศน์ศึกอิหร่าน-อิสราเอล

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สงครามโดยตรงระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลในรอบใหม่ โดยศักยภาพด้านอาวุธแล้วอิหร่านยังสู้อิสราเอลไม่ได้ ขณะที่อิสราเอลยังได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากสหรัฐทำให้ยิ่งเสียเปรียบ ดังนั้นการทำสงครามของอิหร่านต่ออิสราเอล แบ่งออกได้เป็น 3 ฉากทัศน์ (Scenario)

ฉากทัศน์แรก ที่มองว่าเลวร้ายสุด คือ อิหร่านสู้หมดหน้าตัก “ตายเป็นตาย” ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสงครามโลกจากมีประเทศผู้ให้การสนับสนุนของแต่ละฝ่ายเข้าร่วม

ฉากทัศน์ที่ 2 อิหร่านสู้ครึ่งหนึ่ง หมายถึงอิหร่านร่วมกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮูตีในเยเมนสู้กับอิสราเอล ซึ่งจะเกิดความสูญเสียขึ้นทั้งฝ่ายอิสราเอล ฝ่ายอิหร่าน และฝ่ายต่าง ๆ

ฉากทัศน์ที่ 3 ความขัดแย้งบานปลายออกไป โดยมีประเทศ / กลุ่มประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อียิปต์ และชาติมุสลิมส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับอิสราเอลเข้าร่วม โดยมองว่าผู้นำอิสราเอลเป็นอาชญากรสงคราม ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วกว่า 4 หมื่นคน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ที่ต้องจับตามองคือสถานการณ์ที่อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรง และขยายวงมากขึ้นจะส่งผลกระทบกับโลก และกับไทยในวงกว้าง ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้าโลกจะชะลอตัวลงอีก ราคานํ้ามันจะพุ่งสูงขึ้น ส่งผลต้นทุนด้านโลจิสติกส์ทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้น ทั้งในการขนส่งสินค้าทางเรือ ทางอากาศ จะเพิ่มขึ้นอีก 10-20% เป็นอย่างน้อย รวมถึงกระทบภาคการท่องเที่ยวของโลกชะลอตัวลง”

ราคานํ้ามันพุ่ง-รัฐตรึงดีเซล

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า สถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง หากขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เห็นได้จากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อราคานํ้ามันดิบปรับตัวลดลง แต่เมื่อมีเหตุการณ์ท่าทีการสู้รบจะรุนแรงขึ้นก็ส่งผลทำให้ราคาปรับตัวขึ้นในทันที

ทั้งนี้ ต้องมีการติดตามสถานการณ์ราคานํ้ามันแบบรายวัน เพราะไม่มีใครคาดการณได้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งทาง สกนช. เองก็ต้องพยายามพยุงราคานํ้ามันขายปลีกดีเซลในประเทศให้อยู่ในระดับไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยใช้กลไกจากกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงช่วยสนับสนุน ล่าสุดถือว่ามีสภาพคล่องที่ค่อนข้างดี เรียกว่าต้องพยายามพึ่งตนเองให้มากที่สุด

3 ศก.ใหญ่โลกอ่อนแรง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแรง เป็นผลจากจีดีพีในเศรษฐกิจสำคัญ ๆ มีอัตราการขยายตัวที่ต่ำ ทั้งสหรัฐ ที่ปีนี้คาดจีดีพีจะขยายตัวเพียง 2.7% สหภาพยุโรป (อียู) 0.8% และญี่ปุ่น 0.8% ซึ่งอาจจะกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยที่ยังพึ่งพาตลาดเดิมเหล่านี้อยู่

อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เงินดิจิทัล วอลเล็ต 4.5 แสนล้านบาทยังไม่ออกมา ทางหอการค้าไทยมีแผนงาน / มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมถึงมาตรการที่ร่วมกับรัฐบาลที่อยากให้เร่งรัดดำเนินการได้แก่

1.การขับเคลื่อนโครงการยกระดับเมืองนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ศรีสะเกษ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตรัง และนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว การยกระดับภาคเกษตร ทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง

2.การช่วยเหลือและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ที่ผ่านมา ที่หอการค้าไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ Big Brother เรียนรู้จริงจากบริษัทพี่เลี้ยงระดับประเทศเพื่อช่วย SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงระบบบริหารจัดการ แพ็คเกจจิ้งดีไซน์ การเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น ซึ่งโครงการจะช่วยสร้างแต้มต่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

3.เร่งการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม โดยล่าสุดหอการค้าฯอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการค้าระหว่างไทย จีน และอินเดีย ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของโลกเพื่อกำหนดจุดยืนและเป้าหมายการค้าที่ชัดเจน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“สิ่งที่เอกชนกังวลในเวลานี้นอกจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของโลก และเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว ยังเป็นเรื่องการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการตัดสินคดีของนายกรัฐมนตรี และการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ” นายสนั่น กล่าว

จับตาผลต่อลดดอกเบี้ยไทย

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายInvestment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย กล่าวว่า ความผันผวนในตลาดโลก ส่วนตัวยังไม่เห็นว่า จะมีแรงกระแทกที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยขนาดไหน เช่น ถ้าการบริโภคในสหรัฐลดการใช้จ่ายจะส่งผลต่อการส่งออกไทยแค่ไหน แต่หากต้องปรับประมาณการส่งออกลงหรือเห็นตัวเลขชัดว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับลดลง ก็อาจจะมีผลต่อท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 21 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ถ้าเป็นประเด็นความผันผวนของตลาดหุ้นโลก กนง.น่าจะยืนระยะและเน้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)รายงานออกมาแม้จะไม่ค่อยจะดีนัก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ได้แย่นัก ส่วนตัวยังมองเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะอยู่เกิน 2.0% คือประมาณ 2.3% หรือ 2.5%

โอกาส ศก.มะกันถดถอย 30%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ส่วนตัวมองเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)มีโอกาสเป็นไปได้ประมาณ 30% เพราะสัญญาณการชะลอตัวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นลักษณะของการชะลอตัวแบบค่อย ๆ ชะลอตัว ซึ่งการที่เศรษฐกิจค่อย ๆ ชะลอมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ จากแรงกระตุ้นหรือ 3 ปัจจัยบวก คือ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะมีตัวช่วยคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีจบ, เฟดลดดอกเบี้ยนโยบาย และโอกาสที่จะเจอเทคโนโลยีใหม่ หรือ AI

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตามคือ สัญญาณตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ถ้าคนตกงานด้วยอัตราเดิมและอัตราการจ้างงานใหม่ยังต่ำเท่าเดิมหรืออัตราการตกงานต่อเนื่อง แนวโน้มประมาณ 3 เดือนก่อนเลือกตั้งหรือในไตรมาส 3 ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเจอ Recession

ส่วนเรื่องสงครามหรือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ครึ่งหลังของปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะรุนแรงต่อเนื่อง แต่สัญญาณในตะวันออกกลางมาเกิดตอนที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความเสี่ยงจะเกิด Recession เพราะฉะนั้น เรื่องสงครามจะกลายเป็นปัจจัยที่ 3 รองจากความเสี่ยงที่สหรัฐจะเกิด Recession กับเรื่องเฟดจะลดดอกเบี้ย

ททท.สั่งเกาะติดสถานการณ์

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การสู้รบ และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่มีมากขึ้น ททท.ได้สั่งการให้สำนักงานในต่างประเทศ เกาะติดและประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผลกระทบแต่อย่างใด โดยในช่วงนี้เป็นช่วงกรีนซีซันของไทย ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ยังคงเดินทางเที่ยวต่อเนื่อง ทั้งนี้สิ่งที่ยังคงต้องจับตามอง คือ การสู้รบที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงบานปลายมากน้อยแค่ไหนเพราะจะมีผลต่อเรื่องราคานํ้ามัน และจะกระทบต่อสายการบิน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตอนนี้จะเริ่มเห็นมีบางประเทศเตือนไม่ให้ออกนอกประเทศบ้าง ก็อาจจะกระทบบ้าง หากการเข้า-ออกประเทศ ถูกจำกัด หรือกระทบต่อเงื่อนไขในการเดินทาง ซึ่งสงครามถือเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม แต่ตราบใดยังมีการเดินทางเข้าไทย มีเที่ยวบินระหว่างกัน ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบ เวลานี้ททท.ยังทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

 ลุ้นดึงดีมานด์ซื้อบ้านหลัง 2

นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพในมุมมองของชาวต่างชาติ ค่าครองชีพถูก มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่พร้อม รวมถึงราคาอสังหาฯ เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศค่อนข้างดี ไม่สูงมาก ดังนั้นเมื่อต่างชาตินึกถึงบ้านหลังที่สอง ประเทศไทยจะอยู่ในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่นึกถึง ส่งผลให้จะมีดีมานด์เข้ามาในประเทศมากขึ้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4016 วันที่ 8 – 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567