“พิชัย” จ่อถกเครดิตบูโร แบ่งประเภทลูกหนี้-ลดเวลาติดแบล็คลิสต์

05 ส.ค. 2567 | 08:48 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 08:48 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง จ่อถกเครดิตบูโร แบ่งประเภทลูกหนี้-ลดเวลาติดแบล็คลิสต์ หนุนประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ พร้อมจับมือกรุงไทย นำร่องรวมหนี้ข้าราชการในสังกัด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ กระทรวงการคลังจึงแนวคิดที่จะแบ่งประเภทการติดเครดิตบูโร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาพรวมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้  โดยจะมีการหารือร่วมกับเครดิตบูโรว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งจะมีการหารือถึงการแนวคิดการลดระยะเวลาการติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโรด้วย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ปัจจุบันผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ 1 ครั้ง จะมีประวัติติดเครดิตบูโรนาน 36 เดือน ฉะนั้น จึงมองว่าควรจะแบ่งประเภทหรือไม่ เช่น ผู้ที่ติดเครดิตบูโรเรื่อยๆ อยู่กลุ่มนึง และคนที่ 3 ปี ติดเครดิตแค่ครั้งเดียวก็อยู่อีกกลุ่มนึง เพื่อให้คนที่ใช้ข้อมูลเห็นว่าแต่ละกลุ่มความเสี่ยงอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วย”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีข้าราชการอยู่ในระบบ 3 ล้านคน และมีสัดส่วนหนี้ข้าราชการอยู่ 3 ล้านล้านบาท ฉะนั้น กระทรวงการคลังจึงได้นำร่องเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการในสังกัด โดย 9 หน่วยงาน และ 7 สหกรณ์ในสังกัด ร่วมกับธนาคารกรุงไทย

ผ่าน “โครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง” ช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน มัดรวมหนี้ทุกประเภทไว้ที่กรุงไทย ซึ่งมีข้าราชการอยู่ 36,000 คน  

“พิชัย” จ่อถกเครดิตบูโร แบ่งประเภทลูกหนี้-ลดเวลาติดแบล็คลิสต์

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยพร้อมแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการกลุ่มเปราะบางที่มีเงินเดือนเหลือหลังหักภาระหนี้ไม่ถึง 30% โดยได้จัดทำ “สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง”

สำหรับข้าราชการที่ในอนาคตจะมีสิทธิได้รับหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดจากกรมบัญชีกลางเมื่อเกษียณอายุ และมีสิทธิจะได้รับบำนาญรายเดือนหลังเกษียณอายุโดยสามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จากทั้งธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. สินเชื่อแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3.50% ต่อปี 3 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา (อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 4.49% ต่อปี

โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญาสูงสุด 40 ปี ผ่อนชำระ 4,700 บาท/เดือน) โดยได้รับยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประกัน  

2. สินเชื่อแบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

จุดเด่นโครงการ  

  • สามารถร่วมใช้บริการทางการเงินกับสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิก (Co-Exist) โดยที่ให้มีเงินเหลือใช้เพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% และยังสามารถหมดหนี้ได้หลังเกษียณ
  • อัตราดอกเบี้ยต่ำ “คงที่” ตลอดอายุสัญญา ไม่ผันผวนไปตามทิศทางของดอกเบี้ย วางแผนการบริหารหนี้ระยะยาวและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น
  • ขยายระยะเวลาคืนหนี้ และอายุผู้กู้ ให้สามารถชำระได้สูงสุดถึงอายุ 80 ปี จากเดิมกำหนดอายุถึง 60 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการ
  • สร้างวินัยการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ในระหว่างเข้าร่วมมาตรการฯ ลูกหนี้จะเข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่ม  โดยธนาคารร่วมมือกับเครดิตบูโร ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมือในการแจ้งเตือน หากลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มและร่วมมือกับสหกรณ์ในการแชร์ข้อมูลสถานะหนี้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (iLock Bureau)
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน เป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพทางการเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินเพื่อช่วยวางแผนเริ่มต้นจัดการหนี้ได้ง่ายๆผ่าน https://krungthai.com/link/รวมหนี้ยั่งยืน