อีอีซี จับมือ 4 หน่วยงาน ดันแอปฯ ViaBus ต้นแบบการเดินทาง 3 จังหวัด

05 ส.ค. 2567 | 07:38 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 07:46 น.

“อีอีซี” จับมือ 4 หน่วยงาน ลงนาม MOU ดึงแอปฯ ViaBus ขึ้นแท่นเทคโนโลยีต้นแบบ หนุการเดินทางเชื่อมรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ 3 จังหวัด เตรียมนำร่อง 2 มหาวิทยาลัย จ.ชลบุรี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า อีอีซีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะ ร่วมกับ ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 

 รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา  รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบแอปพลิเคชั่นให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าว 

 ดร.จุฬา กล่าวต่อว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญ เพื่อสร้างต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี โดยนำระบบแอปพลิเคชั่น ViaBus ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนมาใช้ประโยชน์ในการติดตามรถโดยสารสาธารณะ ในแบบเรียลไทม์ 

ทั้งนี้จะนำร่องให้บริการในรถโดยสารสวัสดิการของ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะของ อบจ.ระยอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นักเรียนนักศึกษา 

อีอีซี จับมือ 4 หน่วยงาน ดันแอปฯ ViaBus ต้นแบบการเดินทาง 3 จังหวัด

รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ระบบฯ ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี  ระยอง ฉะเชิงเทรา

ขณะเดียวกันความร่วมมือตาม MOU จะเป็นการร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี ให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายต่อไป 
 

โดยจะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ที่สนใจอื่น ๆ เพื่อยกระดับโครงข่ายการเดินทาง ระบบคมนาคมในพื้นที่อีอีซี ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนภายในพื้นที่อีอีซีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทเวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับระบบขนส่งสาธารณะ อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการวางแผนและบริหารเวลาการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประจำทางและรถโดยสารให้บริการของหน่วยงาน

สำหรับนวัตกรรม ViaBus นั้นให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบรถโดยสารได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี(ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง

รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรม ViaBus นี้ยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถให้สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความอัตโนมัติและตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น

อีอีซี จับมือ 4 หน่วยงาน ดันแอปฯ ViaBus ต้นแบบการเดินทาง 3 จังหวัด

“ความร่วมมือตาม MOU ในครั้งนี้จะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการยกระดับการคมนาคมขนส่งแบบบูรณาการ ทำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ช่วยให้เสริมสร้างเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เดินทางได้รับการเดินทางที่ทันสมัยและไร้รอยต่อ และสามารถยกระดับการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป” นายอินทัช กล่าว

ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีสำหรับจังหวัดระยอง เป็นความฝันของคนระยอง และที่ต้องการจะทำให้กับคนระยอง แต่จากการพูดคุยในหลายครั้ง หลายเวที

การที่จะปฏิรูประบบขนส่งในจังหวัดระยองอย่างเต็มรูปแบบ มันมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่หลายประเด็น ทั้งทางด้านภาระทางงบประมาณ ด้านกฎหมาย และด้านผลกระทบต่อระบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อบจ.ระยอง แต่เพียงฝ่ายเดียว

“ดังนั้นภาพความฝันที่สมบูรณ์คงต้องใช้เวลา แต่ยังคงเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นได้แน่นอน การร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเติมความฝัน ให้มีภาพชัดขึ้น เชื่อว่าการนำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปประยุกต์ใช้ จะส่งประโยชน์ต่อคนระยอง ต่อ อบจ.ระยอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการรถสาธารณะไฟฟ้าวิ่งเลียบชายหาดแหลมเจริญที่ อบจ.ระยอง กำลังดำเนินการอยู่” ดร.ปิยะ กล่าว

ดร.ปิยะ กล่าวต่อว่า แอปพลิเคชั่น ViaBus นี้จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของโครงการ ที่จะสร้างความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสำหรับโครงการอื่นๆ ของ อบจ.ระยอง ต่อไปได้อย่างแน่นอน

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยบูรพา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ ในการร่วมกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus มาใช้ประโยชน์เป็นระบบเพิ่มเติมจากแอปพลิเคชั่น BBUTransit

อีอีซี จับมือ 4 หน่วยงาน ดันแอปฯ ViaBus ต้นแบบการเดินทาง 3 จังหวัด

ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาและใช้ติดตามรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนิสิต บุคลากร ประชาชน และผู้รับบริการภายในมหาวิทยาลัยให้กว้างขวางมากขึ้น

จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยบูรพาที่ว่า เราจะทำให้ ม.บูรพา ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง EEC มหาวิทยาลัยบูรพาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ผ่านแอปพลิเคชั่น ViaBus ในครั้งนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบให้สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ อีอีซี สามารถผลักดันการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่ง

และยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้สำเร็จ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวก ให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนการเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเชตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถสวัสดิการของวิทยาเขตศรีราชาในปัจจุบัน ให้มีความมีความทันสมัยมากขึ้น 

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มั่นใจว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อนิสิต บุคลากร รวมถึงประชาชนและผู้มาติดต่อ เพื่อการวางแผนการเดินทางในพื้นที่วิทยาเขตได้เป็นอย่างดี” รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร กล่าว

 นอกจากนี้ทางวิทยาเขตศรีราชาหวังว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบได้อย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ และมีความยินดีให้การสนับสนุนในการขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในพื้นที่ อีอีซี และในวิทยาเขตอื่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป