"ส.อ.ท." ชี้ "ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท" งวดก.ย.-ธ.ค. 67 ทางรอดประเทศ

16 ก.ค. 2567 | 06:30 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 06:30 น.

"ส.อ.ท." ชี้ "ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท" งวดก.ย.-ธ.ค. 67 ทางรอดประเทศ หลัง กกพ. ประกาศ 3 แนวทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระบุหากภาครัฐไม่ทำอะไรเลยค่าไฟฟ้างวดแรกปี 68 ก็จะปรับสูงขึ้นอีก

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขอัตราค่าไฟล่าสุดที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกาศเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 3 แนวทาง คือ 

ปรับขึ้นราคาเป็นแนวทางแรก 4.65 บาทต่อหน่วย แนวทางสอง 4.92 บาทต่อหน่วย และแนวทางสาม 6.01 บาทต่อหน่วย จากค่าไฟปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้นถึง 11-44% ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่วิกฤติในปัจจุบันและประชาชนยังย่ำแย่

โดยทางออกที่ดีที่สุด คือ การขอตรึงค่าไฟงวดสุดท้ายของปี (ก.ย.-ธ.ค.) ให้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามเดิม และถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา ค่าไฟงวดแรกของปี 68 หรือม.ค.-เม.ย.จะสูงขึ้นอีก

"ส.อ.ท." ชี้ "ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท" งวดก.ย.-ธ.ค. 67 ทางรอดประเทศ

"ยอมรับว่าเห็นตัวเลขแล้วรู้สึกตกใจมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาค่าไฟจะขึ้นประมาณ 20 สตางค์ ซึ่งยังพอไหว แต่ตัวเลขล่าสุดราคาที่ประกาศถูกสุดขึ้นมา   48 สตางค์ ถือว่าสูงมาก ตอนนี้ทางออกที่ดีที่สุด คือ การตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือเป็นทางรอดของประเทศ ทางรอดของประชาชน และไม่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยที่ยังคงชำระคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้บางส่วน รัฐบาลสามารถช่วยสภาพคล่อง กฟผ.ได้ โดยให้กฟผ.ชะลอหรือลดเงินนำส่งรัฐ" 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางออกคงต้องให้ชะลอการชำระคืนค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกินจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ(เอเอฟก๊าซ) จำนวน 15,084 ล้านบาทออกไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐสั่งให้ปรับลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 66 ให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดจากงวด พ.ค.-ส.ค. 66 อยู่ที่ 4.69 บาทต่อหน่วย โดยไม่ได้ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด เพียงแต่สั่งให้ บมจ.ปตท. และ กฟผ.คุมค่าก๊าซและให้นำส่วนต่างค่าก๊าซธรรมชาติไปทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟคืนให้ ปตท. และ กฟผ. ส่วนนี้คิดเป็นเงิน 25.02 สตางค์ต่อหน่วย ที่จะนำมาเรียกเก็บจากประชาชนคืนในงวดสุดท้ายของปี 67 จึงทำให้ค่าไฟงวดนี้สูงขนาดนี้
 

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐไม่ทำอะไรเลย ค่าไฟฟ้างวดแรกปี 68 ก็จะปรับสูงขึ้นอีก จึงต้องการให้รัฐทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2024 เป็นการผ่าตัดเพื่อทางรอดของประเทศ โดยจำเป็นต้องพึ่งพลังงานสะอาดต้นทุนไม่ผันผวนที่จะไปเสี่ยงกับพลังงานฟอสซิลที่ควบคุมราคาไม่ได้

รวมทั้งบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าและปริมาณการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ลงทุนเกินตัวในโรงไฟฟ้า หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติม ที่จะเป็นภาระของประเทศ รวมทั้งควรมีดัชนีชี้วัด หรือเคพีไอที่เหมาะสม และทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้า เช่น ค่าพร้อมจ่าย เป็นต้น