เช็กอาการเศรษฐกิจไทยผ่านมุมมอง "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง-เศรษฐพุฒิ" หนักแค่ไหน

08 ก.ค. 2567 | 04:24 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 04:25 น.

เช็กอาการเศรษฐกิจไทยผ่านมุมมอง "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง-เศรษฐพุฒิ" หนักแค่ไหน ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้หมดแล้วที่นี่ ชี้หนักกว่าวิกฤตต้อมยำกุ้ง ด้านผู้ว่าธปท.ระบุฟื้นแต่ซ่อนความลำบาก

เศรษฐกิจไทยวิกฤตขนาดไหนในเวลานี้ เป็นคำถามคำโตที่ประชาชนในประเทศเกิดความกังวล และสงสัย 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมความคิดเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจของไทยมาให้ได้รับทราบกัน เพื่อเช็คอาอาการว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร

หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าพ่อเจ้าพ่อเหล็กผู้ล้มละลายจากต้มยำกุ้ง เจ้าของวลีดัง "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ระบุชัดเจนว่า เศรษฐกิจเวลานี้น่าเป็นห่วงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาก เพราะเป็นกันทั้งโลก แต่ที่ผ่านมามีจุดเริ่มต้นมาจากต้มยำกุ้ง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตามมา แต่ไม่ได้กระทบกับทั้งโลกเหมือนปัจจุบัน 

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้หลังจากที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ไม่นาน ก็เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากนั้นก็มีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสตามมา เพราะฉะนั้นจึงหนักหนาสาหัสกว่ากันมาก
 

ขณะที่สนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศของทุกประเทศที่เคยเซ็นร่วมกันไว้ เวลานี้ก็ใช้ไม่ได้ เนื่องจากต่างคนต่างใช้นโยบายการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเว้นภาษีขาเข้าที่เคยเอื้ออารีต่อกันปัจจุบันก็แทบจะไม่มีแล้ว   

เช็คอาการเศรษฐกิจไทยผ่านมุมมอง "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง-เศรษฐพุฒิ" หนักแค่ไหน

เมื่อถามว่าประเทศไทยจะมีทางออกได้อย่างไร สวัสดิ์ ตอบชัดเจนว่า ไทยเวลานี้ไม่มีใครเข่นฆ่าก็อาสัญ โดยการเมืองในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้ หรือเรียกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยตายเพราะพูดแต่คำว่าประชาธิปไตย หรือเสรีภาพ ซึ่งต้องเรียนว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น คงไม่มีผู้นำคนใดในโลกที่จะทำให้คนในชาติรวยเท่ากันได้ โดยความเหลื่อมล้ำทุกประเทศก็มีเหมือนกัน

"ประเทศไทยวันนี้แย่เพราะนักการเมือง ลองดูผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันเกือบ 1 ปี มีหรือไม่โครงการแบบถาวรที่ช่วยสร้างงานให้กับคนในชาติ ที่สำคัญมองแล้วยังมองไม่เห็นอนาคตที่ดี ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ทำหน้าเป็นเซลล์แมนเดินทางไปทุกจังหวัด ลงไปสำรวจร้านค้าแผงลอย ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าใดนัก"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าประเทศไทยไม่ใช่ถึงทางตัน แต่นักการเมืองคือผู้ที่ทำให้ตัน โดยมองว่ายังมีกุญแจดอกสำคัญมากมายที่จะช่วยเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยถูกนำมาดำเนินการ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เจริญขึ้นมาได้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ

เศรษฐกิจไทยแย่มาก

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก 

ทั้งนี้ ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน 
 
 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญ กกร.ยังแสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น   

“สงครามการค้าทำให้สินค้าจีนถูกต่อต้าน มีผลต่อการส่งออกของไทยประมาณ 20% นี่คือสัญญาณอันตราย เรียกว่าภายในก็แย่ ปัจจัยภายนอกก็มากดดัน ยิ่งหากมาปรับขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ต.ค. เท่ากับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในรอบปี ไม่มีประเทศใดที่จะปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งต่อปี เพราะตามกฎหมายให้แค่ 1 ครั้งต่อปี"

นายทวี กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน  ยิ่งตอนนี้โรงงานปิดไปแล้วใกล้ๆจะพันแห่ง เลิกจ้างไปจำนวนมาก หากเกิดมีเหตุการณ์นี้อีกนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก โดยผลสำรวจค่าแรงวันนี้เอกชนเกิน 70% ไม่ต้องการให้มีการปรับ
 

ขึ้นค่าแรง 400 บาทซ้ำเติมประเทศ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ความเห็นในฐานะของคณะกรรมการหอการค้าการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จะเป็นการซ้ำเติมประเทศมากกว่า เรื่องค่าแรงไม่ควรจะมาปรับขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะผู้ประกอบการมีการวางแผนงานประจำปีล่วงหน้าไว้

การปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้จะส่งผลกระทบกับแผนงานและต้นทุนของผู้ประกอบการ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ ก็คือทำให้เกิดการจ้างจ้างงาน และต้องดูว่าค่าแรงของประเทศไทยเท่าไรสามารถสู้และแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่

เศรษฐกิจฟื้นแต่ซ่อนความลำบาก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นแต่ซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย เพราะยังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากรายได้ที่ไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 

เช็คอาการเศรษฐกิจไทยผ่านมุมมอง "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง-เศรษฐพุฒิ" หนักแค่ไหน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลการฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในปัจจุบันพบว่า รายได้แรงงานยังปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเมื่อเทียบระดับรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรเมื่อช่วงก่อนเกิดโควิด เดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่เมื่อไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเป็น 108.9 เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอิสระเดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่ไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยแค่เป็น 107.2 เท่านั้น สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

"ถ้าดูตัวเลขผ่าน ๆ จะเห็นว่า รายได้ของคนสองกลุ่มเพิ่มขึ้นมากว่าที่เคยเป็นอยู่ แต่ตัวเลขที่เห็นมันซ่อนความลำบาก และความทุกข์อย่างเห็นได้ชัด เพราะมีหลุมรายได้เกิดขึ้นมหาศาลในระหว่างทางที่คนกลุ่มนี้ควรจะได้ก่อนจะถึงปัจจุบัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ดร.เศรษฐพุฒิ  กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยตอนนี้ยังไม่ได้ฟื้นเข้าสู่ศักยภาพที่แท้จริง โดยปัจจุบันภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสัดส่วน GDP จะอยู่ที่ภาคบริการ ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก จึงไม่แปลกใจว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ เมื่อรวมกับภาคการผลิตที่สำคัญกับการส่งออกของไทยกำลังเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยหลายอุตสาหกรรมเจอการแข่งขันที่เข้มข้น โดยเฉพาะการแข่งขันของสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย

กำลังซื้อหดฉุดดัชนีเชื่อมั่น SME

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 

โดยมีสาเหตุจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง หลังจากที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมการเดินทาง และการท่องเที่ยว อีกทั้งในเดือนนี้ยังขาดปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อการดำเนินธุรกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่องจากการอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และราคาสินค้าต้นทุนที่เร่งตัวสูงขึ้น 

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาการขนส่งสูง จากการสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เห็นได้จากดัชนีองค์ประกอบปัจจุบันเกือบทุกองค์ประกอบปรับตัวลดลง ได้แก่ ด้านคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุนโดยรวม ต้นทุน (ต่อหน่วย) และกำไร อยู่ที่ระดับ 60.8 57.2 51.6 38.9 55.5 ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 62.9 59.2 52.1 40.8 และ 58.9 ขณะที่องค์ประกอบด้านการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 50.4 ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า