"ดีพร้อม" ดันมาตรฐานสิ่งทอไทยหนุนซอฟต์พาวเวอร์ ปั้นเศรษฐกิจ 50 ล้าน

04 ก.ค. 2567 | 03:32 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 03:32 น.

"ดีพร้อม" ดันมาตรฐานสิ่งทอไทยหนุนซอฟต์พาวเวอร์ ปั้นเศรษฐกิจ 50 ล้าน เดินหน้าจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม ชูจุดเด่นประสานกับความคิดสร้างสรรค์

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 

รวมทั้งนำจุดเด่นของไทยประสานกับความคิดสร้างสรรค์สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยให้มีความโดดเด่นในตลาดโลก และเพิ่มมาตรฐานของสินค้าในทุกด้าน

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (Thailand Textiles Tag) ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยการบูรณาการกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ 
 

ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงการขอรับรองภายใต้ตราสัญลักษณ์คุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้าความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Made in Thailand)  

"ดีพร้อม" ดันมาตรฐานสิ่งทอไทยหนุนซอฟต์พาวเวอร์ ปั้นเศรษฐกิจ 50 ล้าน

สำหรับในปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag และพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้การรับรองตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งสิ้น 22 กิจการ 34 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองในปีนี้ มีหลากหลายประเภท เช่น ผ้าผืนสำหรับนำไปพิมพ์และตัดเย็บเป็นกางเกงช้างและกางเกงประจำจังหวัดต่าง ๆ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งบุรุษและสตรี 

รวมทั้งชุดเครื่องนอนและเสื้อผ้ากีฬาที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างเนื้อผ้าให้สัมผัสแล้วรู้สึกเย็นสบาย เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท 
 

โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมายรวมทั้งสิ้น 151 กิจการ 271 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจปีละไม่น้อยกว่าร 20% รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 180 ล้านบาท 

“เชื่อว่าการดำเนินกิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทยสู่ระดับสากล” 

นายภาสกร กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้เกิดมูลค่าและรายได้เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เกิดการปรับเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความแตกต่าง สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับสินค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ได้รับแรงกดดันสูงจากกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า