สันติธาร เสถียรไทย : เปิดเคล็ดลับรับมือ ยุคเปลี่ยนผ่านจากดิจิทัล สู่ AI

06 มิ.ย. 2567 | 00:00 น.

AI ครองโลก คงไม่เป็นคำเกินจริงไปนัก เมื่อปัจจุบัน "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ AI อยู่ใกล้ตัวชนิดหายใจรดต้นคอ ตั้งแต่ตื่นนอน-เข้างาน-ระหว่างงาน-เลิกงาน จนกระทั่งเข้านอน กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน 

KEY

POINTS

  • สันติธาร เสถียรไทย สวมหมวกที่ปรึกษา AI สภาผู้แทนฯ เปิดเคล็ดลับ เปลี่ยนผ่านจากยุคดิจิทัลสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ 
  • แนะ เพิ่มทักษะ AI Lireracy - สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ถูกหลอก-ถูกต้มน้อยลง ควบคู่กับการออกกฎหมาย 
  • เปรียบ AI เหมือน "เพื่อนร่วมงาน" มาแน่-หนีไม่พ้น 
  • ชี้ 4 ประโยชน์ 3 เสี่ยง รับมือ AI ดิสรัปชันเร็วกว่าที่คิด

 

AI กำลังจะครองโลก คงไม่เป็นคำเกินจริงไปนัก เพราะปัจจุบัน "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ "AI" อยู่ใกล้ตัวชนิดหายใจรดต้นคอ

บางคน AI อาจจะเข้ามาทักทายจาก "ชีวิตประจำวัน" ตั้งแต่ตื่นนอน-เริ่มงาน-ระหว่างงาน-เลิกงาน จนกระทั่งเข้านอนกลายเป็น "กิจวัตรประจำวัน" 

“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสพบ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

สันติธาร เสถียรไทย : เปิดเคล็ดลับรับมือ ยุคเปลี่ยนผ่านจากดิจิทัล สู่ AI

ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร 

แม้จะได้ตั้งคำถามเพียง 2-3 คำถาม ในช่วงเวลา 8 นาที ทว่า “ดร.สันติธาร” ไขคำตอบถึงการรับมือต่อการเปลี่ยนผ่านจาก "ยุคดิจิทัล" สู่ "ยุคAI" อย่างไรไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย-เจ็บตัวน้อยที่สุด

“ดร.สันติธาร” เริ่มต้นตอบคำถามว่า ตอนนี้สิ่งที่จะต้องทำมีหลายด้านมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI literacy) หมายถึง การสร้างความรู้พื้นฐานด้าน AI ให้กับผู้คน 

สิ่งที่ต้องระวัง คือ บางทีเราไปมองในเรื่องความปลอดภัยแต่เพียงอย่างเดียว เราไปมองเรื่องของการออกกฎหมาย พอออกกฎหมายเสร็จแล้ว ปกป้องเสร็จแล้ว มันจบ

แต่เราได้เรียนรู้จากบทเรียนของยุคดิจิทัลที่ผ่านมาเช่นกันว่า การออกกฎหมายมา บางที มันสำคัญ แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาด้านดิจิทัล หรือ มิจฉาชีพลดลงเลย

"บางทีกฎหมายอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมาควบคู่กับการให้ความรู้ของคนและตอนนี้ความรู้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะว่า หลาย ๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจในยุคดิจิทัลพอมาถึงยุค AI มันเปลี่ยนไปเยอะมาก ซึ่งมีทั้งบวกและลบ"

เพิ่มทักษะ AI – สร้างภูมิคุ้มกัน 

“ดร.สันติธาร” ขยายความเพิ่มเติมในการรับมือกับ "ด้านลบ" ว่า แน่นอน ต่อไปเราต้องมีภูมิคุ้มกัน เราจะต้องรู้แล้วว่า ข้อมูลแบบนี้ปลอม อย่าไปเชื่อ อันนี้ไม่ใช่ตัวเรา ข้อมูลที่เราใส่เข้าไปควรหยิบเอาไปใช้ได้หรือไม่ privacy เราควรจะอยู่ตรงไหน หรือว่าข้อมูลบางอย่าง เราอยากจะถาม Chat GBT ไม่ควรจะใส่ข้อมูลบริษัทเข้าไป สิ่งเหล่านี่เราต้องมีพื้นฐาน 

อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีด้านโอกาสด้วย เรียกว่า ทักษะ Proficiency หมายความว่า เรารู้ว่า AI ใช้อย่างไร สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ และ AI ในปัจจุบันมีข้อดี คือ เข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก เพียงแค่ต้องมองว่า เรานำมาอำนวยความสะดวก โดยการสร้าง Productivity ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นได้อย่างไรได้บ้าง 

หลังจากทำด้าน Proficiency และการมีภูมิคุ้มกันให้เป็นพื้นฐานสำหรับทุกคนแล้ว แต่ละอุตสาหกรรมอาจจะมี use case ที่ไม่เหมือนกัน ภาคท่องเที่ยวแบบหนึ่ง การแพทย์อีกแบบหนึ่ง การเงินก็อีกแบบหนึ่ง แต่ละอุตสาหกรรมต้องมี AI Literacy ของตัวเอง ระดับอุตสาหกรรมและเป็นไกด์ไลน์ออกมาของแต่ละอุตสาหกรรมควรต้องเรียนรู้ AI อย่างไรบ้าง ตัวไหนที่มีประโยชน์บ้าง

“ถ้าเรามี AI Literacy ระดับพื้นฐานและอุตสาหกรรม โดยทำแบบนี้ทั่วประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะถูกหลอก ถูกต้ม น้อยลง ขณะเดียวกันเราจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากขึ้น และจริง ๆ หากมองอีกมุม มุมบวก AI ตอบโจทย์ประเทศไทยหลายอย่าง เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัย ประชากรวัยแรงงานกำลังลดลง เรากำลังต้องการอะไรบางอย่างมาช่วยเรามากขึ้น” 

AI ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เพียงเครื่องมือ แต่เหมือนเป็น "เพื่อนร่วมงาน" เดิมเราบอกว่า เราขาดคน เราอยากได้ผู้ช่วยสองคน ตอนนี้เราอาจจะได้ AI มาสองคนมาช่วยเราแทน ถ้าเราใช้เป็นและรู้เท่าทัน 

เคล็ดลับปรับตัว-รับมือ AI 

ส่วนภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวอย่างไรนั้น “ดร.สันติธาร” บอก "เคล็ดลับ" ว่า ภาคอุตสาหกรรมจะต้องหา “Use Case” กับการทำ “ไกด์ไลน์” ของตัวเอง บริษัทขนาดใหญ่อาจจะต้องเป็นผู้นำก่อน สิ่งที่จะต้องทำ คือ ต้องมีการทดลองภายในองค์กรตัวเอง AI อะไรบ้างที่ใช้ได้ และถ้าจะให้ดีอยากให้อุตสาหกรรมรวมตัวกันและประกาศเป็นไกด์ไลน์ในอุตสาหกรรมจะมีนโยบายอย่างไร โดยมีหลักคุณธรรมหรือจรรยาบรรณกำกับในการใช้ด้วย 

“ถ้ามีจรรยาบรรณและหลักการใช้ออกมาในอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ จะช่วยให้เจ้าเล็ก ๆ เช่น SMEs ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ ไม่มีเวลาสามารถอ่านไกด์ไลน์แล้วนำมาใช้กับธุรกิจได้ด้วย” 

นอกจากนี้ต้องเตรียมเรื่องข้อมูล (data) ของตัวเอง เพราะ AI มีประโยชน์ก็จริง แต่ถ้าข้อมูลที่เราใส่เข้าไปไม่ดี ผลก็จะออกมาไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เก็บมา เช่น ยอดขาย ต้นทุน พฤติกรรมผู้บริโภค ต้องนำมาเก็บและดูแลให้ดี จัดระบบหลังบ้านให้ดี เพื่อให้ AI สามารถช่วยทำงานได้เต็มที่

“นึกภาพว่า AI เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ฉลาดมาก ๆ แต่สุดท้ายต้องเข้าไปอ่านข้อมูลของเรา ถ้าข้อมูลของเราจัดเก็บสะเปะสะปะ เด็กฉลาดแค่ไหนก็ตีความไม่ถูก” 

สันติธาร เสถียรไทย : เปิดเคล็ดลับรับมือ ยุคเปลี่ยนผ่านจากดิจิทัล สู่ AI

AI ดิสรัปชันเร็วกว่าที่คิด 

เครื่องหมายคำถามตัวโตจะตั้งรับ AI มาทำงานทดแทนแรงงานคนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้โดนปลดออกจากภาคแรงงาน-คนตกงานมหาศาล ? “ดร.สันติธาร” ชวนคิดมุมกลับ 

เป็นเรื่องของทักษะ ถ้าเราสร้าง AI Literacy สุดท้ายแล้วในทางกลับกัน สมมุติว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเด็ก สมมุติว่าเป็นเด็กเกรดบี หรือ เกรดซี ไม่ได้เรียนเก่งมาก แต่เราใช้ AI เป็น เราอาจจะเข้าไปทำผลงานได้เทียบเท่าเด็กเกรดเอก็ได้ 

“โลกอนาคตจะแบ่งออกเป็นคนที่ใช้ AI เป็น กับคนที่ใช้ AI ไม่เป็น เราต้องไปอยู่ด้านคนที่ใช้ AI เป็น ให้มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องไปกลัวกับมัน เพราะว่ากลัวหรือไม่กลัวอย่างไร AI มาแน่ เราหนีไม่พ้น”

4 ประโยชน์ 3 ความเสี่ยง 

“ดร.สันติธาร” คิดไว ๆ ถึงประโยชน์ และ “ความเสี่ยง” ของ AI โดยประโยชน์แบ่งออกเป็น 2 A 2 I ดังนี้ 

  • A : Automation แทนที่คน แรงงานที่คนไม่อยากทำ เช่น งานเอกสาร 
  • A : Augmentation ช่วยงานให้คนเก่งกว่าเดิม เช่น การตรวจงาน 
  • I : Inclusion การเข้าถึง เช่น การสื่อสารผ่านทางไกล 
  • I : Innovation นวัตกรรม เช่น การเรียนการสอนแบบใหม่ 

ขณะที่ risk (ความเสี่ยง) มี 3 ด้าน

  • malicious : เอาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เอาไปใช้ในการหลอกคน 
  • malfunction : ไม่ทำงานตามที่ควร ให้คำตอบผิด 
  • macro : เศรษฐกิจมหภาค เช่น ทำให้คนถูกปลดออกจากงาน รายได้น้อยลง เพราะถูกแทนที่โดยลดลง

ส่วนระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านจากยุคดิจิทัลไปสู่ยุค AI สมบูรณ์แบบเมื่อไหร่ 5 ปี หรือ 10 ปี “ดร.สันติธาร” ทิ้งท้ายให้ชวนคิด ว่า “พูดยาก แต่เร็วกว่าที่คิดเยอะ” 

“ความเร็วช่วงหลังในการพัฒนา ยิ่งมีการแข่งกัน ยิ่งจะทำให้พัฒนาไปเร็วมากขึ้น ดิสรัปชันหลาย ๆ อย่างจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาด”