บทสรุป นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” เรียงคิวพบ 5 บิ๊กธุรกิจชั้นนำญี่ปุ่น

23 พ.ค. 2567 | 10:01 น.

บทสรุป นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” หารือร่วมกับผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น 5 บริษัท พร้อมสานต่อการลงทุน ขยายกิจการในประเทศไทย พร้อมดึงพัฒนาเทคโนโลยีรักษ์โลก อุตสาหกรรม high-tech

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท Mitsui & Co, บริษัท Ajinomoto, บริษัท Sony Group Corporation, บริษัท MUFG & Softbank และ บริษัท Nidec Corporation โดยสรุปรายละเอียดการหารือแยกเป็นรายบริษัท ดังนี้

Mitsui ดันไทยฐานผลิต “บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก”

นายกรัฐมนตรี เริ่มต้นการหารือกับผู้บริหารบริษัท Mitsui & Co เป็นบริษัทแรก ซึ่งเป็นบริษัทการค้า การบริหารธุรกิจและการพัฒนาโครงการระดับโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจหลักในด้านพลังงาน ทรัพยากรแร่และโลหะ เหล็ก โดยมีสำนักงาน 125 แห่งใน 61 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา 

ทั้งนี้ บริษัทได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาโอกาสการลงทุนของบริษัท ภายหลังพบนายกรัฐมนตรีในงาน Roadshow to Japan เมื่อเดือนธันวาคม 2566 เกี่ยวกับความตั้งใจของบริษัทในสาขาชีวภาพและพลังงานสะอาด และความคืบหน้าของโครงการใหม่ที่จะทำร่วมกับบริษัทไทย รวมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อไปในอนาคต

นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติให้สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก อำนวยความสะดวกให้บริษัทฯ ที่สนใจลงทุนในไทย และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งทำประชาพิจารณ์โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนให้บริษัทเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์การเกษตรในการทำน้ำมันเพื่อการประกอบอาหาร และพลังงานเชื้อเพลิง

สำหรับการเจรจายังมีการหารือถึงความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น การสำรวจและผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมการให้บริการสาธารณสุข และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ความร่วมมือกับภาคเอกชนของไทย  และร่วมดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต “บรรจุุภัณฑ์รักษ์โลก” ซึ่งมุ่งหวังว่าจะตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของบริษัทฯ และส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นหนึ่งใน Soft Power หลักของประเทศไทย

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหารบริษัท Mitsui & Co

Ajinomoto เล็งขยายการลงทุนในไทย

ต่อมานายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหารบริษัท Ajinomoto ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสและอาหาร อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอื่น ๆ โดยหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายกฯ และได้แจ้งแนวทางการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่ง บริษัทฯ ยืนยันให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจในไทย และมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพสำหรับบริษัทในการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ นอกจากการลงทุนในไทยแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาคุณภาพผลผลิต (มันสำปะหลัง) ของเกษตรกรไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะนำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยนายกฯ ชื่นชมโครงการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะเป็นพื้นฐานสนับสนุนไทยไปสู่การเป็น Agriculture and Food Hub อย่างยั่งยืน

 

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารบริษัท Ajinomoto Co., Inc.

 

Sony เปิดโรงงานที่ 4 ในไทย

นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหารบริษัท Sony Group Corporation บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานการดำเนินงานในประเทศไทย รวมถึงหารือเกี่ยวกับการเปิดโรงงานที่ 4 ภายใต้บริษัท Sony Device Technology (Thailand) ที่สวนอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี 

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะทำการประกอบ Semiconductor Laser สำหรับ Hard Disk Drive ที่ใช้ใน Data Center รวมถึงการประกอบ Image Sensor สำหรับการใช้งานในยานยนต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว

ทั้งนี้บริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และมีแนวโน้มการขยายการลงทุนในอนาคต เนื่องจากบทบาทของ AI Technology ที่ทำให้ความต้องการใช้งาน Data Center เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณที่เลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า high-tech พร้อมหวังว่า บริษัทจะพิจารณาไทยเป็นลำดับต้น ๆ ในการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการ AI Technology และการเติบโตของ EV อย่างต่อเนื่อง

 

นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Sony Group Corporation

 

นายกฯ หนุนตั้งธนาคาร MUFG ในไทย

จากนั้นนายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหารบริษัท MUFG & Softbank ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยพร้อมให้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านการทำงานร่วมกับทีมนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ 

โดยจะมีการจัดสัมมนา Thailand-Japan Investment Forum เพื่ออัพเดทกลไกที่ภาครัฐได้มีการปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดทำกลไกพลังงานสะอาด เป็นต้น รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกิจการสำนักงานภูมิภาค 

นอกจากนี้ จะมีการจัด Roundtable Meeting และการตั้งบูธของ BOI เพื่อให้บริการคำปรึกษา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดในวันที่ 20 - 21 มิถุนายน 2567 ณ โอซาก้าและโตเกียว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน  

นายกฯ สอบถามเกี่ยวกับดำเนินธุรกิจของบริษัท ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งธนาคาร MUFG ในไทย ซึ่งบริษัทได้ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้บริษัทเป็น Partner ซึ่งทำให้บริษัทเกิดการพัฒนา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำสถานะความเป็นกลางของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาศูนย์การผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งไทยมี Free Visa รองรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Start up และ SMEs 

 

นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารบริษัท MUFG & Softbank

 

Nidec จ่อขยายการลงทุนรับ AI

สุดท้ายนายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหารบริษัท Nidec Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนา การผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทฯ ได้รายงานการดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนานกว่า 35 ปี รวมถึงมีแผนการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้งาน AI Technology รวมถึงการเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น 

นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลสนับสนุนการขยายการลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นสินค้า high-tech ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 

รวมทั้งขอให้บริษัทพิจารณาขยายการลงทุนชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ชิ้นส่วนสำหรับ EV ในไทย ซึ่งแนวโน้มตลาดในประเทศยังคงสดใสและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน EV ในไทย

 

นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Nidec Corporation

 

นายกฯ ยังหารือถึงแผนการด้านการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ โดยบริษัทแจ้งว่าให้ความสำคัญให้การจ้างงานคนไทย หัวหน้าโรงงาน และผู้บริหารที่ทำงานในโรงงานที่เมืองไทยจำนวนมากเป็นคนไทย อีกทั้งบริษัทฯ ยังความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทยที่ประสงค์มีความร่วมมือด้านโครงการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน (Internship)

นอกจากนี้ยังหารือกรณีการรับนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งอนุญาตให้ในช่วงเวลา 3 เดือนเท่านั้น จึงหารือนายกรัฐมนตรีถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการปรับกฎเกณฑ์ เพื่อขยายกรอบเวลาการฝึกงานออกไปเป็น 9 - 12 เดือน เพื่อให้นักศึกษามีเวลามากพอที่จะเรียนรู้ในเชิงลึก โดยนายกฯ เสนอให้บริษัทฯ พิจารณาในเรื่องการรับนักศึกษาฝึกงานบรรจุเข้าสู่การจ้างงานอีกด้วย จะได้เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพไปในตัวด้วย