ห่วงปม ถอดถอน “เศรษฐา” สั่นคลอนความเชื่อมั่น

23 พ.ค. 2567 | 09:52 น.

เปิดมุมมองเอกชน นักวิชาการ ปมศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องถอดถอนนายกฯเศรษฐา กังวลสั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุนในและต่างประเทศ กดดันเศรษฐกิจชะงักงัน เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 48 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 โดยที่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่


สภาอุตฯกังวลกระทบความเชื่อมั่น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่ศาลฯรับคำร้องดังกล่าว แม้จะไม่ได้สั่งให้หยุดพักการปฏิบัติราชการ แต่ก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไปถึงความเชื่อมั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องลุ้นจนกว่าศาลฯจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ ซึ่งช่วงเวลานี้ระหว่างไต่สวนก็จะมีความเสี่ยงหมด หวังว่าสถานการณ์จะไม่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงคนไทยชะงักงันตามไปด้วย เพราะปัจจัยสำคัญในเวลานี้ของไทยที่จะดึงดูดการลงทุนได้คือความมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองด้วย


หอการค้าฯวอนทุกฝ่ายเคารพคำสั่งของศาลฯ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติออกมานั้น ทุกฝ่ายต้องเคารพในคำสั่งของศาลฯ ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และในประเด็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้สั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ หอการค้าฯ มองว่าสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก

"วันนี้ ทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าจากตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 1 เติบโตได้เพียง 1.5% ซึ่งเติบโตน้อยกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายต่างๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ทราบว่าท่านนายกฯ ได้สั่งการให้มีการจัดประชุม ครม. เศรษฐกิจ ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยหอการค้าฯ เห็นด้วย และเห็นว่าน่าจะมีการเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อร่วมกันปรับรูปแบบการทำงานเชิงรุก ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการทำงานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันมาตรการที่เหมาะสม เชื่อว่าน่าจะช่วยทำให้เกิดทิศทางที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป" นายสนั่น กล่าว


ซีไอเอ็มบีไทย ประเมินกระทบตลาดทุนระยะสั้น

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า จะมีผลต่อตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจเป็นเวลาชั่วคราว และระยะสั้น เท่านั้น ส่วนมากจะรอดูท่าทีของสถานการณ์การเมืองก่อนหากเป็นนักลงทุนขาประจำของไทยมาเป็นเวลานาน ก็จะเข้าใจตลาดของไทยดี ว่าความกังวลทางการเมืองจะส่งกระทบได้มากน้อยเพียงใด เพราะกลุ่มขาประจำเขาเข้าใจการผ่านการเแลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้ง ญี่ปุ่น จีน 

“สรุปคือ ผลในระยะสั้น ไม่ว่าจะทำให้การตัดสินของนักลงทุนเป็นอย่างไร ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในะยะยาว เพราะส่วนมากจะดูนโยบาย การลงทุนเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และสภาวะอื่นๆ น่าจะมีส่วนสำคัญกับระบบเศราฐกิจมากกว่า อาจจะเป็นส่วนนึงในความเสี่นงทาวการเมืองของไทย แต่ไม่ใช่นัยยะสำค้ญ ส่วนใหญ่นักลงทุนจะดูไปถึง โครงสร้างพื้นฐาน แผนเศรษฐกิจ นโยบายต่าง ๆ ภาวะเศรษฐกิจจีน แต่ไม่ค่อยสนใจ รวมถึงงสงครามการค้า น่ากังวลมากกว่า ไทยไม่น่าหยุดนิ่ง เพราะดึงดูดต่างชาติ

นักวิชาการ แนะเลิกเล่นเกมการเมือง 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประเทศไทยของเราถึงเวลาเลิกเล่นเกมการเมืองและหันมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจังได้แล้ว หลังตัวเลขสะท้อนชัดเจนว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย กำลังประสบปัญหาจริง ต้องการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน 

ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินออกมาเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 บังคับใช้แล้ว ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน รวมถึงนโยบายอื่น ๆ ก็กำลังตามา ถ้าต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ แม้นโยบายจะเดินหน้าต่อ แต่ก็อาจจะมีชักงันกันบ้างอยู่แล้ว

“แน่นอนว่า ถ้านายกฯ ไม่ถูกถอดถอน ก็จะเป็นผลดีกับความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ถ้ามีการเปลี่ยนหัว นโยบายก็จะล่าช้า ต้องมีการหารือ ประชุม และออกนโยบายใหม่”

ในมิติของเสถียรภาพรัฐบาล การที่ถูกตรวจสอบผ่านกระบวนการทางกฎหมายแบบนี้ ก็เป็นการสะท้อนมิติทางการเมืองไทยพอสมควร ว่าเสถียรภาพอยู่ในระดับใด ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต้องยอมรับว่าไทย อยู่ในระดับต่ำแล้ว เพราะที่ผ่านมาเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง
ในระหว่างที่ไทยเล่นเกมการเมือง แต่ตลาดทุน และเศรษฐกิจโลกกำลังพัฒนาต่อไป นักลงทุนจึงหันมาถอนทุนออกจากไทย เพราะเติบโตช้า ศักยภาพการเติบโตก็จำกัด ยังคงมีนโยบายประชานิยม แต่ไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบจริงจัง ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม อยากให้ลองตั้งข้อสังเกตุดูว่า ขนาดรัฐบาลเตรียมที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ตราว 5 แสนล้านบาท แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ตอบสนองแม้แต่น้อย สะท้อนว่านักลงทุนลดน้ำหนักและความสำคัญของการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความจริง