มหากาพย์ ยื้อ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ส่งท้าย “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่ารฟท.คนนอก

10 เม.ย. 2567 | 07:58 น.

ลุ้น “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่ารฟท.คนนอก ดัน “ไฮสปีด 3 สนามบิน” หลังหมดวาระครบรอบ 4 ปี 23 เม.ย.นี้ ฟากบอร์ดรฟท.เล็งตั้งสรรหาผู้ว่าคนใหม่ ลุยสานงานค้างท่อ สร้างรถไฟทางคู่-ไฮสปีด

KEY

POINTS

  • ลุ้น “นิรุฒ  มณีพันธ์” ผู้ว่ารฟท.คนนอก ดัน “ไฮสปีด 3 สนามบิน” หลังหมดวาระครบรอบ 4 ปี 23 เม.ย.นี้
  • ฟากบอร์ดรฟท.เล็งตั้งสรรหาผู้ว่าคนใหม่ ลุยสานงานค้างท่อ สร้างรถไฟทางคู่-ไฮสปีด

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ รฟท. 1 ในรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการด้านรถไฟและพัฒนาระบบรางให้มีศักยภาพมากขึ้น ปัจจุบัน รฟท.มีโครงข่ายทางรถไฟความยาว 4,843 กิโลเมตร (กม.) โดยในปี 2567 มีแผนเพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่ม 772 กิโลเมตร (กม.) รวมความยาว 5,615 กิโลเมตร (กม.)

 

หลังจาก “นิรุฒ  มณีพันธ์” อดีตนายแบงก์ที่ข้ามห้วยมานั่งในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ซึ่งถือเป็นผู้ว่าคนนอกที่อยู่จนครบวาระ 4 ปี ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 23 เมษายนนี้ ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีแผนที่จะเปิดสรรหาผู้ว่ารฟท.คนใหม่มาแทน ซึ่งจะใช้เวลาในกระบวนการสรรหาผู้ว่าการฯ แล้วเสร็จภายใน 2 - 3 เดือน โดยในระหว่างนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการสรรผู้ว่ารฟท.คนใหม่นั้น จะมีการพิจารณาให้รองผู้ว่ารฟท.เป็นรักษาการแทนผู้ว่ารฟท.ที่จะหมดวาระในปัจจุบันด้วย

 

ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่ารฟท. “นิรุฒ  มณีพันธ์” ได้ผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง อาทิ โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ ,โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม โดยทั้ง 2 เส้นทางอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง รวมทั้งรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ที่บางเส้นทางยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและจะเปิดให้บริการได้เร็วๆนี้ ,รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว,โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงรังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต ,ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่จะเปิดประมูลในอนาคตอันใกล้

ขณะที่อีก 1 โครงการอย่าง “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 224,544 ล้านบาท กลับติดปัญหาคาราคาซังกว่า 6 ปี ที่ดูท่าทีจะยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนที่วางไว้ ถึงแม้ในปัจจุบันพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา สามารถส่งพื้นที่ได้ 100%  และรฟท.สามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานกับเอกชนได้ แต่เนื่องจากในปี 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุให้เอกชนผู้ชนะการประมูลอย่างซีพีขอรับการสนับสนุนจาภาครัฐในการแก้ปัญหาค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จนนำมาสู่การแก้ไขสัญญากับรฟท.จนถึงปัจจุบัน 

 

ไม่เพียงเท่านั้นการเจรจากับเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังไม่เห็นวี่แววการแก้ไขสัญญาใหม่กลับมีเหตุให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้อีก โดยพบว่าพื้นที่ของโครงการฯติดปัญหาทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นราว 9,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างรฟท.และเอกชนเพื่อให้ได้ข้อสรุป 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับเอกชนในประเด็นปัญหาทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เบื้องต้นเอกชนได้เสนอเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างช่วงดังกล่าวแลกกับเงื่อนไขให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาการผ่อนชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งจะต้องดูในเรื่องข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ คาดว่าจะใช้การเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้สอดรับกับบีโอไอที่อนุมัติการขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เอกชน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ในปี 2561 ได้เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งผู้ชนะประมูลได้สิทธิบริหารโครงการระยะทาง 220 กิโลเมตร รวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ ซึ่งมีการเปิดรับซองข้อเสนอเอกชนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 

มหากาพย์ ยื้อ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ส่งท้าย “นิรุฒ  มณีพันธ์” ผู้ว่ารฟท.คนนอก

ทั้งนี้พบว่ามีเอกชนยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาว่านายนิรุฒ มณีพันธ์ จะสามารถปิดดีลการเจรจากับเอกชนได้สำเร็จและสามารถผลักดันแผนก่อสร้างไฮสปีด 3 สนามบินตามที่หวังหรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้เชื่อว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงส่งท้ายผู้ว่ารฟท.คนนอกอย่างแน่นอน