งบ 2568 ลากยาว กรอบวงเงิน 3.752 ล้านล้าน ชงครม.หลังหยุดสงกรานต์

03 เม.ย. 2567 | 08:23 น.

งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ปรับปรุงใหม่ กรอบวงเงิน 3.752 ล้านล้าน เตรียมลากยาวเสนอครม.อีกครั้งหลังสงกรานต์ 23 เมษายน 2567 หลังครม. เห็นชอบปรับปฏิทินงบ รอประชุม 4 หน่วยงานเคาะกรอบงบใหม่

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา มีมติรับทราบเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับงบประมาณ นั่นคือ การเสนอปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 2 ซึ่งมีการปรับปรุงวันเวลาของการจัดทำงบประมาณใหม่อีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้ทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2571) โดยเพิ่มกรอบวงเงิน งบประมาณปี 2568 เพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า เดิมกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จะเสนอเข้ามาให้ครม. พิจารณาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 แต่ต้องเลื่อนออกมา และคาดว่าจะเสนออีกครั้งในวันที่ 9 เมษายน 2567 ก่อน แต่จะเป็นกรอบวงเงินเดิม คือ วงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท จากนั้นจึงขอให้ครม.เห็นชอบการแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เพื่อปรับวงเงินให้เป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง

ทั้งนี้การพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 คาดว่า 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะนัดประชุมเพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจึงนำผลการหารือเสนอต่อครม.ต่อไป

“การจัดทำงบประมาณปี 2568 กรอบวงเงินใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามแผนการคลังระยะปานกลาง จะเข้าครม.วันที่ 9 เมษายน 2567 นี้ไม่ทัน เพราะจะเสนอผลประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจที่เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 เข้ามาก่อน จากนั้นสำนักงบประมาณ จะมีการเสนอการปรับกรอบวงเงินเข้ามาในครม.อีกครั้ง” นายเฉลิมพล ระบุ

 

การจัดทำงบประมาณปี 2568

สำหรับรายละเอียดวงเงินงบประมาณปี 2568 ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ประกอบด้วย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,752,700 ล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 865,700 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณคงค้าง อยู่ที่ 12,841,743 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 66.93% ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ อยู่ที่ 2,887,000 ล้านบาท และขนาด GDP อยู่ที่ 19,570,126 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามแผนการดำเนินงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ตาม ปฏิทินงบประมาณปี 2568 ฉบับใหม่ กำหนดรายละเอียดของวันและเวลาของการจัดทำงบประมาณอย่างละเอียด ดังนี้

1.ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในวันที่ 2 เมษายน 2567

2.ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในวันที่ 9 เมษายน 2567

3.หน่วยงานเศรษฐกิจ 4 แห่ง ร่วมกันพิจารณาทบทวนการประมาณการรายได้ การปรับปรุงกรอบวงเงิน และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2568  ในวันที่ 5 เมษายน 2567 เพื่อนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 9 เมษายน 2567

4.สำนักงบประมาณ พิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เพื่อนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 และมอบให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสอง ในวันที่ 23 เมษายน 2567

5.สำนักงบประมาณ รับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 24 - 30 เมษายน 2567 เพื่อนำเสนอครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นฯ และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 และให้สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 และเอกสารประกอบงบประมาณ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567

6.สำนักงบประมาณ จัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568  และเอกสารประกอบฯ ระหว่างวันที่ 15 - 24 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567

ส่วนขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณ มีขั้นตอนและกิจกรรม ระบุไว้ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ดังนี้

1.สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วาระที่ 1 ในวันที่ 5 - 6 มิถุนายน 2567

2.สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วาระที่ 2 - 3 ในวันที่ 28 - 29 สิงหาคม 2567

3.วุฒิสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในวันที่ 9 - 10 กันยายน 2567

4. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 17 กันยายน 2567 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป