สารพันปัญหา ชนวน “สนามบินอู่ตะเภา” ดีเลย์ 4 ปี

03 เม.ย. 2567 | 04:24 น.

เปิดสาเหตุ “สนามบินอู่ตะเภา” ดีเลย์ 4 ปี ฟาก UTA ลุ้นผลเจรจาไฮสปีด 3 สนามบิน แนะรัฐหาทางออก เดินหน้าประมูลรันเวย์ 2 พบเอกชน 30 รายแห่ชิงซองเพียบ

KEY

POINTS

  • เปิดสาเหตุ “สนามบินอู่ตะเภา” ดีเลย์ 4 ปี 
  • ฟาก UTA ลุ้นผลเจรจาไฮสปีด 3 สนามบิน แนะรัฐหาทางออก 
  • เดินหน้าประมูลรันเวย์ 2 พบเอกชน 30 รายแห่ชิงซองเพียบ
     

ปัจจุบันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 1 ในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพราะติดเงื่อนไขการเจรจาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และเอกชนผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่งผลให้โครงการล่าช้าอย่างต่อเนื่อง 

 

ที่ผ่านมาบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2563 แต่กลับพบว่าโครงการต้องหยุดชะงักกลางคัน เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องทำงานในรูปแบบ Work From Home ขณะนี้โครงการฯดังกล่าวครบรอบการลงนามสัญญา 4 ปี ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2567 

 

จากการประเมินของนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ระบุว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เป็นสนามบินหลักของประเทศที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี ถือเป็นสนามบินที่มีขนาดเทียบเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน โดย UTA ได้วางแผน Master Plan แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิ.ย. 2564 และได้ลงนามสัญญาผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

 

โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้เนื่องจาก ต้องรอความชัดเจนจากเงื่อนไขการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จก่อน โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ UTA ,พาร์ทเนอร์ และโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ต้องวางแผนร่วมกัน เพราะสนามบินจะไม่สามารถตอบโจทย์การเดินทางเข้ากรุงเทพฯได้หากไม่มีไฮสปีดฯ เพราะถือเป็นโครงการคู่แฝด ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยกัน ทั้งนี้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติ 
 

ทั้งนี้ UTA ต้องการทราบความชัดเจนเพื่อให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะแผนการก่อสร้างทั้งหมดทุกโครงการที่ดำเนินการร่วมกัน หากโครงการใดโครงการหนึ่งเมื่อเริ่มดำเนินการแล้ว แต่อีกโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงเวลาเดียวกันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.แผนการก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน  2.แผนการก่อสร้างสถานีภายในสนามบินอู่ตะเภา 3.แผนการทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

 

เชื่อว่าโครงการไฮสปีดฯจะกระทบกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นโครงการเชื่อมโยงกัน อีกทั้งทางสายการบินมองว่า หากต้องการให้ผู้โดยสารเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯได้ต้องมี ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นเส้นทางที่รวดเร็วและสะดวกมากที่สุด เพราะการมีไฮสปีดฯย่อมเปิดโอกาสให้สายการบินต่างๆสนใจเข้ามาดำเนินการในสนามบินอู่ตะเภาด้วย

 

 การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ทางUTA ต้องการให้ออก NTP ได้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและหานักลงทุน รวมทั้งการปรับแบบ Airport City ซึ่งร่วมมือกับทอท.ในเชิญชวนให้ผู้มาใช้บริการ โดยตั้งเป้าหมายการเปิดให้บริการสนามบินอู่ตะเภาภายในปี 2571 

 

สำหรับแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การบินและผู้โดยสารและองค์ประกอบของสนามบิน 2. Airport City โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สันทนาการ การท่องเที่ยว 3.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางนํ้า หรือ Multimodel Transport
 

ขณะที่ส่วนที่สองเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบิน และส่วนที่สามเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องหารือร่วมกัน

 

นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ประเมินว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท ปัจจุบันจากความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น จะไม่กระทบต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เนื่องจากมีเพียงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้รันเวย์เท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการในภายหลังได้

 

พบว่ามีเอกชนมาซื้อซองประมูลกว่า 30 ราย โดยกองทัพเรือมีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 20 พ.ค. 2567 คาดว่าได้ผู้ชนะภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างทันที ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบประมาณ 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดใช้งานภายในปี 2571 

สารพันปัญหา ชนวน “สนามบินอู่ตะเภา” ดีเลย์ 4 ปี

โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยเนื้องาน ประกอบด้วย การก่อสร้างรันเวย์เส้นทางที่ 2 ขนาดความยาว 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินทุกรุ่น โดยการจัดแนวรันเวย์จะสร้างเป็นทางคู่ขนานและอยู่ห่างจากรันเวย์เดิมประมาณ 1,140 เมตร 

 

ด้านแหล่งเงินในการลงทุนโครงการนี้ ได้รับทุนจากเงินกู้ของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) สัดส่วน 85% ของต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องจัดให้มีกองทุนคู่สัญญา 15% อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 0% เท่านั้น นำไปใช้กับการจัดหาเงินทุนของ AIIB และรูปแบบการประมูลจะดำเนินการผ่านการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International bidding) 

 

หลังจากนี้คงต้องจับตาว่าโครงการสนามบินอู่ตะเภาว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนพร้อมที่จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 หรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้เชื่อว่าจะถือเป็นสนามบินที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศได้ในอนาคต