"เงินเดือนแรงงาน" ภาคเอกชน ผ่านโควิด 4 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยหลักพัน

21 มี.ค. 2567 | 06:21 น.

เปิดข้อมูล "เงินเดือนแรงงาน" ภาคเอกชน ปี 2566 ค่อย ๆ ปรับตัวหลังผ่านช่วงโควิด-19 โดย 4 ปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยหลักพันบาท ขณะที่ภาพรวมปีล่าสุดลดลงเล็กน้อย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการสถานการณ์การทำงานของประเทศไทย ในปี 2566 พบว่า ภาพรวมชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นและมีผู้ที่ทำงานต่ำระดับลดลง โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและของภาคเอกชนในไตรมาสสี่ ปี 2566 อยู่ที่ 42.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.1% และ 1.2% ตามลำดับ

สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ที่ลดลง 23.6% และ 6.8% ตามลำดับ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชน ในปี 2566 จากข้อมูลพบว่า ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 14,095 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลง 0.2%

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับข้อมูลค่าจ้างแรงงานของไทย พบตัวเลขที่น่าสนใจเมื่อแยกเป็นรายปี สามารถสรุปได้ดังนี้ 

ส่วนแรก คือค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยภาพรวมของไทย หากย้อนหลังไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านผลช่วงของการระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในช่วงนั้นอย่างมาก ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 14,632 บาทต่อคนต่อเดือน 

ก่อนปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2564 อยู่ที่ 14,885 บาทต่อคนต่อเดือน จากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาแตะ 15,416 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นช่วงที่ค่าจ้างปรับขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 มากว่า 3 ปี ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยในปีต่อมาคือปี 2566 อยู่ที่ 15,328 บาทต่อคนต่อเดือน หรือลดลง 0.2% หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 750 บาทต่อคนต่อเดือน

ส่วนที่สอง นั่นคือ ค่าจ้างแรงงานเอกชนของไทย จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ค่าจ้างแรงงานเอกชน ปรับตัวสอดคล้องกับค่าจ้างแรงงานภาพรวม โดยย้อนหลังไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่าจ้างมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป้นขั้นบันได โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ผ่านการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ค่าจ้างแรงงานเอกชน อยู่ที่ 13,072 บาทต่อคนต่อเดือน

ต่อมาในปี 2564 ค่าจ้างแรงงานเอกชนปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 13,382 บาทต่อคนต่อเดือน และปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 13,964 บาทต่อคนต่อเดือน และปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 14,095 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.9% หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 1,023 บาทต่อคนต่อเดือน

สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป สศช. ระบุว่า มีด้วยกัน 2 เรื่อง ดังนี้  

1. ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีเป้าหมายในการปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 แต่จากข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมล่าสุด ปี 2565 พบว่า โครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบันยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ 

โดยสัดส่วนของแรงงานไม่มีฝีมือเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมดในภาคการผลิตสูงถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 ที่มีสัดส่วนเพียง 26.2% 

นอกจากนี้ รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานระดับประเทศ ปี 2566 ยังพบว่า สถานประกอบการในไทยจำนวนมากยังต้องการเพียงแรงงานในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ซึ่งความต้องการแรงงานและโครงสร้างการจ้างงานลักษณะนี้ อาจเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยที่จะเชื่อมโยงไปถึงค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับ 

ดังนั้น การกำหนดนโยบายส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในระยะถัดไป อาจต้องคำนึงถึงสัดส่วนของการใช้แรงงานทักษะสูงและทักษะต่ำให้มากขึ้น

2. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส.3 จากสถิติความต้องการแรงงาน ของกรมการจัดหางาน พบว่า ตำแหน่งงานว่างในไตรมาสสี่ ปี 2566 อยู่ที่ 1.79 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2% แต่มีผู้สมัครงานเพียง 9,358 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างที่ 0.14% หรือตำแหน่งงาน 100 ตำแหน่ง มีผู้สมัครเพียง 14 คน 

โดยสัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งจากสถิติความต้องการแรงงานรายจังหวัดในเดือนธันวาคม 2566  พบผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ