‘พาณิชย์’ ไม่ขัดข้อง ร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา ฉบับประชาชน

17 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

‘พาณิชย์’ ไม่ขัดข้อง ร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน ทั้ง 3 ฉบับ แนะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ และการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ นร 0912/16 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นบันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ 1673/2564)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ ประชาชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมี นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ
  • ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 โดยมีหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงพาณิชย์ (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ขัดข้องในหลักการของร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ และไม่ขัดข้องหากกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปพิจารณาปรับแก้ให้เหมาะสมกับบริบท โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และมีข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการ ใกล้เคียงกันในการกำหนดให้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ และการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้กำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายลำดับรองซึ่งอาจเป็นกฎกระทรวงระเบียบ หรือประกาศ 

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาในรายละเอียดที่จะกำหนดขึ้นจึงควรมีเหตุผลความจำเป็น มีแนวทางหรือแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจน รวมทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องด้วย

ขณะที่ความเห็นจากกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ขัดข้องในหลักการของร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

อย่างไรก็ดี การทบทวนเพื่อปรับปรุง ร่างพ.ร.บ. ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกฎหมายของหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งควรคำนึงถึงบริบทและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย