กระทรวงอุตฯ ควง กนอ. ลุยโรดโชว์แรกปี 67 ญี่ปุ่น สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรม

28 ก.พ. 2567 | 05:32 น.

กระทรวงอุตฯ ควง กนอ. ลุยโรดโชว์แรกปี 67 ที่ญี่ปุ่น : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย... รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3970

สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์ “รอบด้านการนิคมฯ” และผู้อ่านฐานเศรษฐกิจทุกท่านครับ เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมโรดโชว์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำทีมโดยท่าน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศ

และนำเสนอแผนนโยบายการพัฒนาพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมรองรับการลงทุน  ทั้งความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคต่างๆ 

พร้อมทั้งนำเสนอศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรมไทย ให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายรายของประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ตลอดจนหารือเรื่องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายรัฐบาล

ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งในด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม และ ด้านเศรษฐกิจ โดยสะท้อนจากข้อมูลปัจจุบันที่นักลงทุนญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท 

โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 552 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การโรดโชว์ครั้งนี้จะยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้นอีก เนื่องจากได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ของญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและพัฒนาการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว โดยใช้พลังงานทดแทน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 

รวมถึงการบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวร่วมกันต่อไปในอนาคต 

จากการ MOU ดังกล่าว จะทำให้เกิดความร่วมมือ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ และ ระยะที่ 3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์

หากผลการศึกษาเป็นไปได้ โดยความร่วมมือนี้จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับ พลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน  

ผมเชื่อมั่นว่า MOU ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับโรงงานต้นแบบของโครงการ ที่สามารถนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต และจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงาน ที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมฯ และโรงงานในนิคมฯ 

ภายหลังการ MOU รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าพบ เพื่อแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ และหารือความร่วมมือร่วมกับ นายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ โดยจะร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในระยะต่อไป

โดยมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ให้สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ให้กับนักลงทุนอย่างทั่วถึง สร้างความพร้อมและบรรยากาศที่ดี ในการประกอบการ มากกว่าการตั้งโรงงานอยู่นอกนิคมฯ 

สรุปโดยรวมแล้วการโรดโชว์ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างบริบทของภาคอุตสาหกรรมแบบใหม่ร่วมกันระหว่างไทย และ ญี่ปุ่น คือ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขันในเวทีโลก ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมต่อไปครับ