ห่วงเยาวชนเข้าถึง "บุหรี่ไฟฟ้า" ได้ง่าย เตรียมปิด 1,300 ร้านค้าออนไลน์

21 ก.พ. 2567 | 12:30 น.

"พวงเพ็ชร" รมต.สำนักนายกฯ เผย ห่วงเยาวชนเข้าถึง "บุหรี่ไฟฟ้า" ได้ง่าย เร่งประสาน รมว.ดิจิทัลฯ เตรียมปิด 1,300 ร้านค้าออนไลน์ หลังพบลักลอบจำหน่วยจำนวนมาก

21 กุมภาพันธ์ 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2567 โดยมีการหารือถึงสถานการณ์ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่พบว่า มีกลุ่มผู้เสพเป็นเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าด้วยตนเอง

พบว่า รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้า มีลักษณะดึงดูดกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งรูปลักษณ์ที่เป็นลายการ์ตูน สีสันสดใส มีการดัดแปลงกลิ่นผลไม้หลากหลาย ขณะที่มีการวางจำหน่ายในที่ชุมชนหาซื้อได้ง่าย และยังพบว่า มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งดำเนินการตรวจสอบ และหารือที่ประชุมเพื่อหาแนวทางการป้องกันการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

"นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กำจัดและป้องกันการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง และระบบทางเดินหายใจ ยิ่งปัจจุบัน หาซื้อได้ง่ายผ่านออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม

จึงได้หารือกับ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเร่งปิดช่องทางการลักลอบค้าบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ ที่ตรวจสอบเบื้องต้นได้ประมาณ 1,300 บัญชีจากทุกแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน จะลงพื้นที่เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป" นางพวงเพ็ชร กล่าว

ปัจจุบัน "บุหรี่ไฟฟ้า" ถือเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยมีกฎหมายควบคุม ประกอบด้วย

1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

2. คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า”

3. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย ตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ