รัฐบาลสั่ง 8 หน่วยงาน ศึกษาแก้คำนิยาม “ป่า” หวั่นเจอ EU กีดกันการค้า

15 ก.พ. 2567 | 08:29 น.

พิษกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 กำลังจะส่งผล ทำรัฐบาลดิ้นสั่ง 8 หน่วยงาน ศึกษาแก้คำนิยาม “ป่า” โดยด่วน หวั่นเจอ EU กีดกันการค้า

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ 8 หน่วยงานสำคัญ นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการแก้ไขนิยาม “ป่า” และการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ของไทย เพื่อป้องกันการถูกกีดทางการค้าของสหภาพยุโรป

โดยมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสม ของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอครม. ต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว รัฐบาลศึกษาการแก้ไปคำนิยาม “ป่า” ป้องกัน EU กีดกันการค้า

สำหรับการขับเคลื่อนการแก้ไขนิยาม “ป่า” และการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ของไทยนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึงปัญหาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ ทำลายป่าของสหภาพยุโรป หรือ EUDR กำหนดให้ผู้ที่จะนำเข้า ส่งออก หรือวางขาย ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ในสหภาพยุโรป 7 รายการ ได้แก่ 

  1. วัวและผลิตภัณฑ์จากวัว 
  2. ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 
  3. ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของปาล์มน้ำมัน 
  4. ถั่วเหลือง 
  5. โกโก้ 
  6. กาแฟ 
  7. ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา 

ต้องแสดงข้อมูลสินค้าหรือ ผลิตภัณฑ์ว่า ผลิตขึ้นเมื่อใด ที่ไหน และต้องแสดงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากพืช ที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า

ทั้งนี้เห็นว่า การพิจารณาว่าบริเวณใดเป็นป่า อาจต้องพิจารณาจากนิยามสากลประกอบกับนิยาม ตามกฎหมายของประเทศต้นกำเนิด ซึ่งนิยามของป่าตามกฎหมายไทยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากนิยามสากล ทั้ง

  • The Food and Agriculture Organization of the United Nations 1998 (FAO 1998)
  • Global Forests Resources Assessment 2000 (FRA 2000) 

ที่กำหนดให้ “ป่า (forest)” หมายถึงพื้นที่ที่มีขนาดมากกว่า 0.5 เฮกตาร์ โดยมี ต้นไม้ที่มีความสูงมากกว่า 5 เมตร และการปกคลุมของเรือนยอดมากกว่า 10% หรือต้นไม้ที่สามารถเข้าถึง เกณฑ์เหล่านี้ในแหล่งกำเนิด แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือชุมชนเมือง

 

ภาพประกอบข่าว รัฐบาลศึกษาการแก้ไปคำนิยาม “ป่า” ป้องกัน EU กีดกันการค้า

ขณะที่นิยาม “ป่า” ตามกฎหมายป่าไม้ของไทยหลายฉบับไม่ได้พิจารณาจากความอุดม สมบูรณ์ของพื้นที่ แต่พิจารณาจากการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4 (1) “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน เป็นต้น

ดังนั้นหากพิจารณานิยามดังกล่าวข้างต้น อาจส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรของไทยที่ปลูกบน ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็น “ป่า” ตามกฎหมายป่าไม้ของไทย ทั้งบริเวณที่มีข้อขัดแย้งกับรัฐในประเด็น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกิน และบริเวณที่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ทำประโยชน์บนที่ดินของรัฐทุกประเภท 

ทั้ง บริเวณที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ดินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ที่ดินราชพัส และที่ดินที่มีสิทธิทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.) 

โดยจะถูกตีความว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดไม้ทำลายป่า และถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและระบเศรษฐกิจของประเทศไทยในการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรปได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเสนอให้แก้ไขนิยาม “ป่า” และการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ของไทย ให้กับรัฐบาลพิจารณา