จับตาบอร์ด “เงินดิจิทัล” ชุดใหญ่ ถกวาระลับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

14 ก.พ. 2567 | 09:45 น.

เปิดวาระการประชุมบอร์ด “เงินดิจิทัล” หรือ Digital Wallet ชุดใหญ่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เตรียมถกวาระลับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมเข้ามาคุมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ติดตามความคืบหน้า โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะนัดประชุมคณะกรรมการนัดแรกของปีนี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดโครงการเงินดิจิทัล ในเวลา 16.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการหารือครั้งนี้กำหนดระเบียบวาระการประชุมด้วยกัน 5 เรื่อง โดยไฮไลท์ของการประชุมจะหารือถึงการออก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ

โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า กระทรวงการคลัง ยกร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว คือ ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยมาตราต่าง ๆ รวมประมาณ 7-8 มาตรา ดังนี้

ภาพประกอบข่าว การประชุมบอร์ด “เงินดิจิทัล” หรือ Digital Wallet ชุดใหญ่

 

  • มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ... พ.ศ. ....”
  • มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
  • มาตรา 3 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกินห้าแสนล้านบาท
  • มาตรา 4 ให้การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 
  • มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชบัญญัตินี้จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ไม่ได้ 
  • มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้ประกอบด้วย 
  • มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อกำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้
  • มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ภาพประกอบข่าว การประชุมบอร์ด “เงินดิจิทัล” หรือ Digital Wallet ชุดใหญ่

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการหารือ “วาระลับ” นั่นคือผลการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินของโครงการเติมเงินดิจิทัล ที่จะมีการตรากฎหมาย คือ พระราชบัญญัติกู้เงินขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วย

รวมทั้งหารือถึงแนวทางการดำเนินการตามผลการหารือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งแนวทางรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อตอบข้อสังเกตดังกล่าว และแนวทางการพัฒนาแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสป้องกันการทุจริตในโครงการ

พร้อมกันนี้ยังมีการหารือข้อสรุปข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับโครงการเติมเงินดิจิทัลของรัฐบาล ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะรวม 8 ข้อ ขึ้นมาหารือในการประชุม เพื่อรับฟังข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

นอกจากนี้คาดว่า ที่ประชุมยังเตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพิ่มเติม หลังจากได้มีการตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ 3 ชุด นั่นคือ คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ภายในโครงการเติมเงินดิจิทัลอีกด้วย

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการเติมเงินดิจิทัล ก่อนหน้านี้ด้วยว่า รัฐบาลขอให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่าจะเดินหน้าจะโครงการแน่นอน รวมทั้งยังมีเรื่องอื่นที่ทำควบคู่ไปด้วย