"ซิตี้แบงก์" หนุนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน-ESG ด้วยงบ 1 ล้านล้านดอลลาร์

12 ก.พ. 2567 | 13:28 น.

“ซิตี้แบงก์” ตั้งงบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อบรรลุภารกิจการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ย้ำดำเนินการภายใต้แนวคิด “ลดน้ำเสีย-เพิ่มน้ำดี-วัดผล” จนถึงขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 35% ยอมรับอุปสรรคยังมีอีกมาก แต่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส

 

นางสาวนฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย เปิดเผยใน งานสัมมนา Post TODAY Thailand ECONOMIC DRIVES 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567” หัวข้อ “ความยั่งยืนกับโอกาสทางธุรกิจ” จัดขึ้นวันนี้ (12 ก.พ.) โดยโพสต์ทูเดย์และสื่อในเครือเนชั่น ระบุว่า ธนาคารมีการดูแลในเรื่องของ ESG อย่างเข้มข้น  

โดย ESG นั้นเป็นแนวคิดการพัฒนาองค์กรที่คำนึงถึง Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นสำคัญ  

ทั้งนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์มีการดำเนินการในเรื่อง ESG แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การลดน้ำเสีย 2) การเพิ่มน้ำดี และ 3) การวัดผล

นางสาวนฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย

ธนาคารซิตี้แบงก์เป็นน้ำหล่อเลี้ยงธุรกิจ เพราะเราอยู่ในภาคการธนาคาร เมื่อพูดถึง ESG Mission เรากำลังพูดถึงภารกิจการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนบนโลกใบเดิม

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย อธิบายว่า 195 ประเทศตั้งเป้าเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนว่าในปี 2030 จะทำอะไรและในปี 2050 จะบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง ซิตี้แบงก์ในธุรกิจภาคการธนาคารก็ตั้งเป้าหมายปลายทางว่าจะไปด้วยกันบนเส้นทางนี้พร้อมๆไปกับลูกค้า

โดยในแนวคิดการ “ลดน้ำเสีย”  จะมุ่งไปที่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น ก็จะเข้าไปช่วยกันประเมิน ดูว่าแต่ละองค์กรปล่อยคาร์บอนออกมามากน้อยแค่ไหน เช่นบริษัทในภาคพลังงาน มีการปล่อยคาร์บอน 148.8 ล้านเมตริกตัน ถ้าเราจะมุ่งไปเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2030 เราจะต้องทำอย่างไร จะลดอย่างไร

ส่วนขั้นตอน “การเพิ่มน้ำดี” ในฐานะที่อยู่ในธุรกิจธนาคาร จะเน้นไปที่เรื่องของแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งในเรื่องของเงินทุน ธนาคารซิตี้แบงก์มุ่งเป้าตั้งงบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 35% โดยเงินส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% ของเงินเบิกจ่ายดังกล่าวไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป ขณะที่เอเชีย มีสัดส่วนเพียง 10% ของเงินเบิกจ่ายดังกล่าว

ทุกภาคส่วนใน "ห่วงโซ่คุณค่า" ควรร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนอุปสรรคความท้าทายเป็นโอกาส

ทั้งนี้ ผู้บริหารของซิตี้แบงก์มองว่า บนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนนั้น ในภูมิภาคเอเชีย ยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก คือ

  1. การเข้าถึงข้อมูล เพราะแต่ประเทศแต่ละบริษัทตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็ก ต้องมีการประเมินผลกระทบทางตรงและทางอ้อมว่ามีความรู้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นจุดต่างๆ เหล่านี้ต้องมีการศึกษาและลงลึกในรายละเอียด
  2. การแข่งขัน เพราะในหลายประเทศในเอเชียมีการผูกขาดการแข่งขัน ซึ่งหากลดการผูกขาดลงได้ และส่งเสริมการแข่งขัน ก็จะทำให้การแสวงหากำไรหรือราคาจะปรับตัวตามการแข่งขัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ที่ดี  เพราะการแข่งขันจะทำให้บริษัทต่างๆ เน้นสร้างคุณค่าแทนผลกำไร เพื่อสร้างแต้มต่อที่น่าสนใจ
  3. เป็นอุปสรรคห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สิ่งเหล่านี้เป็นข้อต่อที่คล้องต่อกันเป็นห่วงโซ่ ไม่สามารถเกิดได้ด้วยลำพัง หมายถึงต้องร่วมมือกัน ทำด้วยกัน จึงจะไปข้างหน้าได้

\"ซิตี้แบงก์\" หนุนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน-ESG ด้วยงบ 1 ล้านล้านดอลลาร์

ยกตัวอย่างสำหรับซิตี้แบงก์นั้น ได้มีส่วนร่วมในกองทุนของบิล เกตส์ ที่มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งเป็นความหวังของแวดวงการบินซึ่งมุ่งสู่การลดคาร์บอนและการใช้เชื้อเพลิงสะอาด (clean fuel) โดยเชื้อเพลิงแบบนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 70-80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ซิตี้แบงก์ยังมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ทำร่วมกับลูกค้าอย่างสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์อีกด้วย