หวั่นชาวนา เปิดศึกแย่งนํ้า ลามกระทบภาคอุตสาหกรรม

07 ก.พ. 2567 | 05:43 น.

หวั่นชาวนาเปิดศึกแย่งน้ำ หลังแห่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา สูงกว่าแผน 2.5 ล้านไร่ ภาคอุตสาหกรรม-การผลิตน้ำประปา ผวา!นํ้าเค็มทะลัก

ราคาข้าวเปลือกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น จากต้องการความมั่นคงด้านอาหารในหลายประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ส่งผลให้ชาวนา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยาที่มีระบบชลประทานได้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จนหลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงปริมาณนํ้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดสงครามแย่งนํ้า กระทบต่อปริมาณนํ้าที่ใช้ในการผลักดันนํ้าเค็ม ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตนํ้าประปา และนํ้าเพื่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพาะปลูกพืชสวนที่ทนต่อสภาพไม่ได้เกิดความเสียหายตามมา

ศูนย์ปฏิบัติการนํ้าอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์การเพาะปลูกพืชในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 ตัวเลขการปลูกข้าวนาปรังอยู่ที่ 5.54 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ 3.03 ล้านไร่ ถึง 2.51 ล้านไร่ 

โดยคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 จะมีการปลูกข้าวนาปรังทั้งสิ้น 5.92 ล้านไร่ ซึ่งตามแผนการบริหารจัดการนํ้าฤดูแล้งปี 2566/67 ลุ่มเจ้าพระยา แบ่งการจัดสรรนํ้า สำหรับภาคการเกษตร 4,693 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อรักษาระบบนิเวศ และอื่น ๆ 2,722 ล้าน ลบ.ม.

 

ภาพประกอบข่าว การทำนา และการใช้น้ำในการทำนา

วอนงดทำนาปรังรอบ 2

ข้อมูลจากกรมชลประทานล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.พ. 2567 ลุ่มนํ้าเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณนํ้ารวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,378 ล้าน ลบ.ม.(62% ของความจุอ่างฯรวมกัน)

ขณะที่ผลการจัดสรรนํ้าฤดูแล้ง ปี 2566/67 ณ วันที่ 6 ก.พ. 2567 ในส่วนของลุ่มนํ้าเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังแหล่งใหญ่ของประเทศ มีแผนจัดสรรนํ้า 8,700 ลบ.ม. จัดสรรนํ้าไปแล้ว 4,127 ล้าน ลบ.ม.(48%) คงเหลือนํ้าที่ต้องจัดสรรอีก 4,573 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52%

อย่างไรก็ดีจากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์นํ้าที่มี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการนํ้าและอุทกวิทยา กรมชลประทานเป็นประธาน (5 ก.พ. 67) ระบุ สถานการณ์ในการทำนาปรังของเกษตรกรน่าห่วง โดยทั่วประเทศพบมีการทำนาปรังไปแล้ว 8.19 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้กว่า 40% เฉพาะลุ่มนํ้าเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.54 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้กว่า 80% ทำให้ต้องปรับแผนจัดสรรนํ้าเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว

ทั้งนี้หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ จะพิจารณาปรับลดการระบายนํ้าลง เพื่อสำรองนํ้าไว้เพื่อใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมทั้งสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้งดทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจาก นํ้าไม่เพียงพอ

 

หวั่นชาวนา เปิดศึกแย่งนํ้า ลามกระทบภาคอุตสาหกรรม

ราคาข้าวดีหวังรับเงินแสน

นายถวิต ล้อพูนผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล้อพูนผลไรซ์ มิลล์ จำกัด จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า จากกรณี ที่จำนวนนาข้าวในพื้นที่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยามีการปลูกข้าว ทะลุ 5.5 ล้านไร่นั้น ผลพวงจากช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2566 มีฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้มีปริมาณนํ้าในเขื่อนเพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่นามีนํ้าเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการเพาะปลูกส่วนใหญ่ จะเพาะปลูกใกล้เขื่อนชลประทาน

“ปัญหาภัยแล้งช่วงนี้ไม่น่ากังวลมากเพราะอีก 1-2 เดือนก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือฤดูทำนาปี ที่คาดว่านํ้าจะไม่มีเพียงพอต่อการทำนา”

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า จากราคาข้าวเปลือกที่ดีในปีนี้ ส่งผลให้ชาวนามีการปลูกข้าวรอบนาปรังเพิ่มขึ้น เสี่ยงนํ้าจะไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดการแย่งนํ้า โดยราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ล่าสุด ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า 5% (ความชื้นไม่เกิน 15%) เฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน

ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยที่ 14,400-15,500 บาทต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยที่ 9,500-10,100 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ 13,500-14,500 บาทต่อตัน

 

หวั่นชาวนา เปิดศึกแย่งนํ้า ลามกระทบภาคอุตสาหกรรม

 

หวั่นแย่งนํ้ากระทบอุตฯ-นํ้าประปา

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 7,000-7,500 บาทต่อไร่เป็นแรงจูงใจให้ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้กว่า 2.5 ล้านไร่ และเชื่อว่าคงห้ามชาวนาหยุดปลูกข้าวไม่ได้ 

โดยเฉพาะการทำนาปรังรอบสอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการแย่งนํ้าในช่วงฤดูแล้งรุนแรงจากเอลนีโญตามมาในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพราะการปลูกข้าวต้องใช้นํ้าปริมาณมาก แม้จะใช้วิธีการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง แต่ก็ทำได้ในวงจำกัดในพื้นที่ใกล้ระบบชลประทาน

ปัญหาการแย่งนํ้าที่จะเกิดขึ้นจากการปลูกข้าวเกินกว่าแผนที่กำหนด จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรนํ้าในภาคอุปโภคบริโภค การใช้นํ้าในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี และอยุธยา 

รวมทั้งพืชสวนในพื้นที่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา จากปัญหาการรุกลํ้าของนํ้าเค็มตามมา เนื่องจากปริมาณนํ้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะผลักดันนํ้าเค็ม ซึ่งต้องติดตามค่าความเค็มที่ประปาสำแล จ.ปทุมธานี ว่าจะเกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 หรือไม่ เพราะล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.พ. 2567 ค่าความเค็มแม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ 0.21 แต่ก็ใกล้อยู่ในระดับเกณฑ์เฝ้าระวังแล้ว

 

ภาพประกอบข่าว ศึกแย่งน้ำ 2567 สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา