วิบากกรรม “แลนด์บริดจ์” ฝ่าด่านหิน สิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่า

27 ม.ค. 2567 | 02:26 น.

วิบากกรรม “แลนด์บริดจ์” ฝ่าด่านหิน 2 โจทย์ใหญ่ ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม กินพื้นที่อุทยานแห่งชาติ , ถมทะเลทำระบบนิเวศน์เสียหาย ส่วนด้านความคุ้มค่า ยังต้องถกเถียงอีกยาว หลังตัวแทนสายเรือ ผู้ประกอบการ ยัน ได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน

KEY

POINTS

  • โครงการเองยังไม่สะเด็ดน้ำ ถือว่ามีอุปสรรคไม่น้อย เพราะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านความคุ้มค่า และสิ่งแวดล้อม 
  • แลนด์บริดจ์ กระทบชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ กว่า 3,000 ลำ , พื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1A , พื้นที่ชุ่มนํ้าแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) , ถมทะเลกระทบระบบนิเวศน์
  • ผู้เชี่ยวชาญค้าน ไม่ประหยัดเวลาเดินเรือ ใช้เวลายกตู้สินค้าขึ้นลงนาน รวมถึงค่าใช้จ่ายแลนด์บริดจ์ แพงกว่าสัญจรผ่านช่องแคบมะละกา

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือที่เรียกว่า "แลนด์บริดจ์" เป็นโครงการเชื่อมโยงภาคการขนส่งทางเรือด้วยถนนและระบบรางตัดผ่านประเทศไทยจากฝั่งอันดามันที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ไปยังฝั่งอ่าวไทยที่แหลมริ่ว ต.บางนํ้าจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ภายใต้แนวคิด One Port Two Side ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

ที่มาที่ไปของโครงการนี้แบบคร่าว ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากไทยเรามองว่า การขนส่งทางเรือจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรือที่ขนส่งสินค้าข้ามจากเอเชียตะวันออกไปยังฝั่งมหาสมุทรอินเดียนั้น มีเส้นทางเดียวคือต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะมีความแออัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การสร้างทางลัดตัดผ่านไทยน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี และกลายเป็นที่มาของโครงการ

แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการเมกกะโปรเจกของไทย เริ่มต้นศึกษามาตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แตได้ถูกจุดพลุอย่างเป็นทางการ หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยกคณะลงพื้นที่ไปยังจุดที่จะทำโครงการเป็นครั้งแรก บริเวณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่สองของรัฐบาลชุดนี้

การประชุม ครม. สํญจร จ.ระนอง

การลงพื้นที่ครั้งนี้มีนัยสำคัญ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่ารัฐบาลเอาจริงกับการเดินเครื่องเมกกะโปรเจ็กต์นี้ โดยนายกฯ เศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ในรอบ 20-30 ปีของประเทศไทย เชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน เพื่อร่นระยะทางการขนถ่ายสินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกา นับเป็นโครงการสำคัญ ที่จะนำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ทั้งการขนถ่ายสินค้า การเป็นแรงจูงใจให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทมาสร้างแหล่งผลิต ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พร้อมฟังเสียงประชาชนทุกคน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ด้าน นายชัย วัชรรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.สัญจร ว่า การขับเคลื่อนโครงการตอนนี้ อยู่ในช่วงของการโรดโชว์โครงการ โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกต่อไป โครงการนี้เกือบ 100% เอกชนจะเป็นผู้ลงทุน โดยรัฐจะจัดหาที่ดินและดำเนินการเรื่องค่าเวนคืนที่ดินให้ 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ไปแล้ว 3 เวทีใหญ่ ได้แก่  เวที APEC , เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน –ญี่ปุ่น และล่าสุดในการประชุม เวิร์ลอีโคโนมิคส์ฟอรั่ม หรือ WEF ที่เมืองดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ฝ่าด่านผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในชั้นตอนนำเสนอข้อมูลที่มีการศึกษาไว้แล้วให้กับนักลงทุนและทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย โดยรัฐบาลมีแผนการเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทั้งด้านการบริหารท่าเรือ การบริหารระบบโลจิสติกส์ มาร่วมลงทุนด้วย

แม้จะเริ่มโร้ดโชว์ไปแล้ว แต่ตัวโครงการเองยังถือว่าไม่สะเด็ดน้ำ มีอุปสรรคไม่น้อย เพราะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านความคุ้มค่า และสิ่งแวดล้อม 

โดยในการลงพื้นที่จังหวัดระนอง ของนายกฯเศรษฐา ปรากฎว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ รวมตัวกันมายื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง นั้น เป็นพื้นที่ทำกินของคนไทยพลัดถิ่น และชาวประมงพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก 

หากมีโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ กว่า 3,000 ลำ ขอให้ท่านนายก ทบทวนอีกครั้ง ซึ่งนายเศรษฐา ก็รับปากว่าจะรับฟังเสียงประชาชนทุกฝ่าย พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด

"เศรษฐา" เช็คอิน "แลนด์บริดจ์" ประกาศดันลงทุนครั้งใหญ่ รับฟังคนเห็นต่าง

ไม่เพียงแค่นั้น พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1A ที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อเชื่อมโยงกับท่าเรือ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มนํ้า มีเนื้อที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ถึงอุทยานแห่งชาติลำนํ้ากระบุรี ประมาณ 7 แสนไร่ 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องการถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยฝั่งชุมพรต้องถมทะเลประมาณ 5,808 ไร่ ส่วนฝั่งระนองจะต้องถมทะเลประมาณ 6,975 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จะขวางเส้นทางการเดินทางของสัตว์ทะเลหลายชนิด ที่จะเข้าไปวางไข่ในบริเวณป่าชายเลน และบริเวณที่เป็นหาดเลน เป็นการขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติ

ภาพประกอบข่าว โครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์”

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเส้นทางการเดินเรือเข้ามาเทียบท่าที่ต้องผ่านเส้นทางธรรมชาติ บางพื้นที่ในเส้นทางเดินเรือ จะต้องขุดดินให้ลึกขึ้นเพื่อรองรับเรือที่จะเข้ามาเทียบท่า รวมถึงประเด็นเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เช่น สารเคมีหรือน้ำมันรั่วไหล จนทำลายระบบนิเวศน์ของไทย เป็นต้น

แม้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการจริง กลายเป็นว่าต้องศึกษาเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการไปแล้ว
 

โจทย์ใหญ่คุ้มค่าหรือไม่?

อีกประเด็นของแลนด์บริดจ์คือเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเถียงกันยาว เพราะมีหลากหลายนักวิชาการ หลายผลการศึกษา และหลายความคิดเห็นมาก ๆ 

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านความมั่นคง ภายใต้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา และจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเราสอบถามถึงมุมมองเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ และได้คำตอบว่า ดร.ธนิต มีข้อที่ควรคำนึงถึงอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

1.การทำแลนด์บริดจ์ต้องประหยัดเวลา โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าถ้าเรือสินค้าหันมาใช้บริการโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยแทนการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา จะช่วยประหยัดระยะเวลาได้ถึง 7 วัน 

แต่ ดร.ธนิต บอกว่า ความจริงไม้ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเรือสืนค้าใช้เวลาเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาจริงเพียง 36-48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่สำหรับแลนด์บริดจ์ จะเสียเวลาในการจอดเรือ ยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลง โดยเรือสินค้าในปัจจุบันจะเป็นขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้าได้ 10,000 ตู้ ใช้เวลายกลงจากเรือประมาณ 3 วัน ฉะนั้นการขนส่ง 2 ฝั่งจะใช้เวลารวมขั้นต่ำ 6 วัน และยังไม่รวมกับเวลาที่ใช้การขนส่งทางบกระหว่างท่าเรือ 2 ฝั่งนะครับ

2.ต้องประหยัดเงิน โดยการที่แลนด์บริดจ์เป็น Transshipment port มีท่าเรือ 2 ฝั่ง ที่จังหวัดชุมพร ระนอง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบังถึง 3 เท่า ผู้ขนส่งต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าจอดเรือ ค่ายกสินค้าขึ้นลงท่าเรือ ค่าวางสินค้า และค่าขนส่งทางบกเพื่อไปยังอีกท่าเรือหนึ่ง ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมต้นทุนการเดินเรือเดิมราว 500,000 บาทต่อวันนะครับ

ในขณะเดียวกัน การเดินเรือผ่านทางช่องแคบมะละกานั้น ไม่ได้มีการเก็บค่าผ่านทาง เนื่องจากเป็นช่องแคบเดินเรือระหว่างประเทศ แต่จะมีการเก็บแต่เพียงค่าจอดที่ท่าเรือเท่านั้น ดังนั้นการที่โครงการแลนด์บริดจ์ จะมีการเก็บ ค่าใช้จ่ายตลอดการขนส่ง ทั้งที่ท่าเรือ 2 ฝั่ง และทางบกนั้น อาจจะไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดได้

ภาพประกอบข่าว โครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์”

3.ปัจจัยด้านอุปสงค์ในพื้นที่ ว่าบริเวณดังกล่าวมีสินค้าที่จะใช้บริการขนส่งหรือไม่ โดยแผนการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ มีทั้งระบบขนส่งและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนี่แหละครับคือปัญหา ว่าต้องเริ่มทำสิ่งใดก่อน ระหว่างโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปัญหาที่พบคือพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์นั้น ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีสินค้ารอการขนส่งในพื้นที่ จึงเป็นเหตุให้จังหวัดระนองอาจจะไม่มีเรือขนส่งสินค้าเทียบท่า

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายพิเศษ  ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ได้กล่าวในการบรรยายพิเศษงาน GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGE โอกาสทอง? จัดโดยฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ปัจจุบันเรือขนาดใหญ่ของโลกจะเป็นเรือที่สั่งต่อใหม่ สามารถขนส่งสินค้าเข้ามาประมาณ 10,000 ทีอียู ซึ่งจะใช้เวลาในการขนถ่ายสินค้าไม่เร็วอย่างแน่นอน รวมถึงการจัดลำดับสินค้าก่อนหลังในการขนถ่ายก็เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก ถ้าทำผิดจุดเดียวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวม และอาจทำให้เรือออกจากท่าช้าลงหลายวันได้

มาถึงจุดนี้ ดูเหมือนโครงการแลนด์บริดจ์ จะประสบปัญหาวิบากกรรมเยอะพอสมควร มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่า จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ขณะที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันว่า จากการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ มีเอกชนต่างชาติหลายประเทศให้ความสนใจ เช่น บริษัทจากอินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ บริษัทดูไบเวิล์ด ผู้บริหารท่าเรือและเรือขนส่งสินค้า

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีวงเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา

 

แผนการลงทุนแลนด์บริดจ์ 4 ระยะ

ระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท
  • ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

 

ระยะที่ 2 งบประมาณการลงทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644.75 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164.78 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952.30 ล้านบาท

 

ระยะที่ 3 งบประมาณลงทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 73,221.99 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929.76 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 39,361.04 ล้านบาท

 

ระยะที่ 4 งบประมาณ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 68,280.20 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 16,897.57 ล้านบาท

ภาพประกอบข่าว โครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์” ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP แบ่งเป็นรัฐดำเนินการเวนคืนที่ดินด้วยงบประมาณ 6,212 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนโครงการ 994,994.47 ล้านบาท โดยให้สิทธิเอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี และต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ 

โดยเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กม.ประกอบด้วย

  • ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร
  • ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) 2 ทาง
  • ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) 2 ทาง
  • อุโมงค์ 3 แห่ง ระยะรวม 21 กม.
  • ทางระดับดินประมาณ 39.5 กม.
  • สะพานประมาณ 30 กม.

ทั้งนี้จากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น รัฐบาลระบุว่า ผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เวลาเท่านั้นคือเครื่องพิสูจน์ แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องคุ้มทุนหรือไม่ ต้องลุ้นกันก่อนว่า โครงการนี้จะได้เกิดขึ้นหรือไม่?

ภาพประกอบข่าว โครงการลงทุน “แลนด์บริดจ์”