หาบเร่แผงลอยสิงคโปร์ จุดร่วมระหว่างผู้ใช้ทางเท้า VS โอกาสทางเศรษฐกิจ

23 ม.ค. 2567 | 03:50 น.

ถอดบทเรียน ‘HAWKER CENTER” หาบเร่แผงลอยสิงคโปร์ จุดร่วมระหว่างผู้ใช้ทางเท้า VS โอกาสทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นเมืองหลวงสตรีทฟู้ดโลก

KEY

POINTS

  • หาบเร่แผงลอยสิงคโปร์ Hawker Center ใช้วิธีแก้ปัญหาผังเมืองและโรคระบาด จนสิงคโปร์กลายเป็นเมืองหลวงสตรีทฟู้ดโลก
  • Hawker Center เป็นศูนย์อาหารของชุมชน ขึ้นชื่อในเรื่องการขายอาหารราคาถูกและอร่อย
  • ศูนย์อาหารฯ มีมากกว่า 114 แห่ง ความดูแลของ NEA (National Environment Agency–หน่วยงานที่รับผิดชอบความสะอาดและยั่งยืนในสิงคโปร์) 

ในช่วงเวลาที่กรุงเทพมหานคร เปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศกรุงเทพมหานคร  เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดพื้นที่ทำการค้าหาบเร่ - แผงลอย ให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำการค้าและการสัญจรของประชาชน จะต้องได้รับความสะดวก ปลอดภัย และบ้านเมืองมีความสะอาด เรียบร้อย สวยงาม แก้ปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน

ไม่ใช่เเค่กรุงเทพฯ ที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เเต่เมืองต่างๆ ในโลกล้วนเผชิญกับปัญหาลักษณะนี้ นำไปสู่การจัดระเบียบการทำมาหากินริมทางสาธารณะ ทั้งที่เข้มงวดจนหาบเร่แผงลอยลดลงกระทั่งหายไปจากทางเท้า  "สิงคโปร์" ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการจัดการกับแผงลอยอย่างสร้างสรรค์ มีจุดร่วมระหว่างผู้ใช้ทางเท้ากับโอกาสทางเศรษฐกิจ 

โมเดลนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยสรุปไว้ว่า เป็นโมเดลที่น่าสนใจ และประเทศไทยควรศึกษาเพื่อเปลี่ยนจากปัญหากวนใจสู่มรดกทางวัฒนธรรม

ศูนย์อาหารริมทางของเมืองแห่งนี้น่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งก็คือ ศูนย์อาหารฮอว์กเกอร์ เซนเตอร์ (HAWKER CENTER) ในประเทศสิงคโปร์ ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งมรดกทางอาหารหลากวัฒนธรรมของสิงคโปร์ที่หาได้ไม่ยาก มีมากกว่า 114 แห่งที่อยู่ในความดูแลของ NEA (National Environment Agency–หน่วยงานที่รับผิดชอบความสะอาดและยั่งยืนในสิงคโปร์) 

ขณะนั้น ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ประกาศเอาไว้ในปี 2018 จะนำวัฒนธรรมแบบ hawker culture ขอเป็นมรดกโลกแบบจับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) กับ UNESCO และก็ความสำเร็จในปี 2020 

สิงคโปร์ได้เป็นผู้นำในการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้แนวทางดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ของมนุษยชาติประจำปี 2020 ขององค์การยูเนสโก โดยอธิบายว่า Hawker Center นอกจากจะเป็นห้องรับประทานอาหารของชุมชน ยังเป็นที่แบ่งปันประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน 

จุดเริ่มต้นของ Hawker Center ในสิงคโปร์ มาจากเหตุผลด้านสุขอนามัยและการควบคุมมลพิษทางน้ำ เพราะเมื่อจำนวนหาบเร่ขายอาหารเพิ่มขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ความสะอาดและความไม่เป็นระบบระเบียบของร้านอาหารรถเข็นแผงลอย ทั้งการจัดการอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ถูกหลักอนามัยและการกำจัดขยะและของเสียจากการขายอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การระบาดโรคในสิงคโปร์

รัฐบาลจึงย้ายแผงขายอาหารข้างถนนมาไว้ในศูนย์ที่มีการจัดการเป็นระบบ โดยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานมารองรับ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟฟ้า ตู้เย็น ไฟส่องสว่าง ปล่องควัน และท่อระบายน้ำ  

จากร้านค้าอาหารที่เคยเป็นรถเข็นเร่ขายตามท้องถนน ก็เกิดการลงทะเบียนหาบเร่ข้างถนนทั้งหมด จัดหาสถานที่ใกล้เคียง เพื่อย้ายร้านต่างๆ เข้าไป ผู้ช่วยและผู้สัมผัสอาหารทุกคนต้องผ่านหลักสูตรสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน และผ่านการทดสอบ หากได้คะแนนไม่เป็นไปตามเกณฑ์มีสิทธิถูกระงับใบอนุญาต

ปัจจุบัน Hawker Center เป็นศูนย์อาหารของชุมชน ขึ้นชื่อในเรื่องการขายอาหารราคาถูกและอร่อย เป็นที่พบปะสังสรรค์ของครอบครัวและเพื่อนฝูง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสตรีทฟู้ดในสิงคโปร์ ถือเป็นอีกความสำเร็จในการจัดการเมืองโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คน

ที่มาข้อมูล