พาณิชย์ เผย ภาคการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยฟื้นตัว 

12 ม.ค. 2567 | 03:49 น.

พาณิชย์ เผย ภาคการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยฟื้นตัวในช่วงเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขยายตัว 3% ยืนยัน เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยน เป็นโอกาสช่วงชิงตลาด โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 6 ของโลก

ตลาดการดูแลสัตว์เลี้ยงทั่วโลก (อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง และบริการ) ในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าระหว่างปี 2566 – 2575 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 7% หรือคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2575 (ที่มา: Global Market Insights) 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย (พิกัดศุลกากร 230910 และ 230990) ในปี 2566 แม้ว่าจะหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี แต่ในช่วงปลายปีเริ่มกลับมาขยายตัว โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย ตามลำดับ 

สำหรับปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 6 ของโลก (แต่ส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลก) โดยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 2,803 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3.36% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก ขยายตัว 16.46% เมื่อเทียบกับปี 2564 

โดยผู้ส่งออก 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 

  • เนเธอร์แลนด์ (มูลค่า 4,777 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.73%)
  • เยอรมนี (มูลค่า 4,615 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.54%) 
  • สหรัฐอเมริกา (มูลค่า 4,397 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.27%)
  • ฝรั่งเศส (มูลค่า 3,380 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.05%)
  • จีน (มูลค่า 2,988 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 3.58%) 

ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของอาหารสุนัขและแมว (พิกัดศุลกากร 230910) ไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,434 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 5.51% ของการส่งออกสินค้าอาหารสุนัขและแมวทั่วโลก ขยายตัวร้อยละ 19.33 เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มา: Global Trade Atlas) 

พาณิชย์ เผย ภาคการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยฟื้นตัว 

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกปี 2566 ของ Euromonitor International Voice of the Consumer พบว่า แนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการในการเลือกซื้ออาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคในยุคนี้ ได้แก่

  1. การให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization) โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกกว่า 69% เห็นว่าสัตว์เลี้ยงของตนเป็นหนึ่งในสมาชิกอันเป็นที่รักของครอบครัว
  2. การให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับสุขภาพของผู้เลี้ยง โดยเลือกสรรอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามช่วงอายุและสายพันธุ์ เน้นการป้องกัน การเสริมสร้างความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์เลี้ยง
  3. การจัดจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน (Omni Channel) เห็นได้จาก ปี 2562 การขายอาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์ อยู่ที่ร้อยละ 18 ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด ขณะที่ ในปี 2566 การขายผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 29%
  4. การให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ 53% ระบุว่าพวกเขาพยายามลดการใช้พลาสติก และ 42% ระบุว่าพวกเขาชอบบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เปิดเผยแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าการค้าสูง โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของ EU มีมูลค่ารวม 29,100 ล้านยูโร (31,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว 5.1%

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงยุโรป (European Pet Food Industry Federation) รายงานว่า ปี 2565 มีครัวเรือนกว่า 91 ล้านครัวเรือนในยุโรป มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง (46% ของครัวเรือนทั้งหมด) โดยประเภทของสัตว์เลี้ยงที่นิยม คือ แมว (ประมาณ 78 ล้านตัว) และสุนัข (ประมาณ 67 ล้านตัว) และมีปริมาณการจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงรวม 10.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ พบว่าในสหภาพยุโรปเจ้าของสัตว์เลี้ยงเริ่มมองหาคุณประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากพืชและแมลง หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งแนวโน้มความต้องการดังกล่าวได้เริ่มแพร่กระจายไปยังตลาดเกิดใหม่ด้วย ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานมากขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้เห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยฉลากออร์แกนิกสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะทำให้กฎระเบียบการควบคุมฉลากอาหารออร์แกนิกสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกับอาหารออร์แกนิกสำหรับมนุษย์ ซึ่งมีการกำหนดให้อาหารสัตว์เลี้ยงที่ติดฉลากออร์แกนิก ต้องมีส่วนผสมทางการเกษตรที่เป็นออร์แกนิกอย่างน้อย 95% ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ (จากเดิมกำหนดให้มีส่วนผสมทางการเกษตรทั้งหมดหรือร้อยละ 100 เป็นออร์แกนิก) ระเบียบดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2566 โดยมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 6 เดือนหลังจากที่มีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 พฤษภาคม 2567) 

“แม้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของไทยจะมีศักยภาพในการเติบโตและยังคงเป็นที่ต้องการจากผู้บริโภคทั่วโลก แต่ผู้ส่งออกก็ยังต้องให้ความสำคัญต่อข้อกำหนดการนำเข้า มาตรฐานของประเทศปลายทาง และแนวโน้มความต้องการ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภครายใหม่ ๆ อยู่เสมอซึ่งสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น”

สำหรับกฎระเบียบและมาตรการที่ยุโรปบังคับใช้นั้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียม อาทิ การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก การวิจัยและพัฒนา (R&D) อาหารสัตว์เลี้ยงให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น

รวมถึงต้องศึกษารสนิยม พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ และผู้บริโภคกลุ่ม “Pet Humanization” โดยราคาต้องเหมาะสมกับคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัยของวัตถุดิบเป็นอันดับต้น ๆ 

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิม และเพิ่มโอกาสในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ ๆ จากคู่แข่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น