ชุมพร-ระนองหนุนเดินหน้า “แลนด์บริดจ์” เอกชนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้

10 ม.ค. 2567 | 01:54 น.

คณะกรรมาธิการฯ โครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ จ. ระนอง-ชุมพร ชี้ทิศทางเป็นไปทางบวก ภาคเอกชน หนุนเดินหน้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ขณะชาวบ้านกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การลงพื้นที่จังหวัดระนอง ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนบริดจ์   หรือ "กรรมาธิการโครงการแลนด์บริดจ์"  นำคณะโดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ  ประธานกรรมาธิการฯ  เพื่อสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง  เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม 2567 โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งชาวระนองและใกล้เคียง เข้าร่วมสัมมนา 

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ  ประธานกรรมาธิการฯ วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนบริดจ์

บรรยากาศการสัมมนาวันแรก เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย จากโครงการแลนด์บริดจ์ของประชาชนในพื้นที่ โดยจุดแรกที่คณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่คือ บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งจะมีการถมทะเลเนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ     กล่าวว่า หลังรับฟังความคิดเห็นที่บ้านห้วยปลิง เป็นไปในเชิงบวก  แต่สิ่งที่คนในพื้นที่ยังกังวลคืออาชีพประมงพื้นบ้าน  ตลอดจนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะได้รับค่าเวนคืนที่ดินอย่างไร 
 

ภาพรวมทุกคนยังต้องการความเจริญ ทุกโครงการจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   ทุกฝ่ายจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนทุกเสียง  ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ   ขั้นตอนกำลังอยู่ที่รัฐบาลออกโรดโชว์เพื่อเชิญชวน  รวมทั้งกระทรวงคมนาคมและตั้งเรื่องว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส่วนความสำเร็จในโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้เนื่องจากองค์ประกอบยังไม่ครบ    ต้องมีทั้งการรับฟังเสียงจากพี่น้องประชาชน  EIA ผ่านแล้ว รวมทั้งภาคเอกชนจากต่างประเทศสนใจ จึงจะมีคำตอบให้กับประชาชน

นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

ดร.จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค ผู้แทน  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กล่าวถึงความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์  มีความเป็นไปได้  แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่  จึงจำเป็นต้องทำโรดโชว์ออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในโครงการนี้ มีหลายชาติที่สนใจ ซึ่งเราขายทั้งแพ็คเกจ ทั้งท่าเรือและระบบขนส่ง

กลุ่มที่สนใจในขณะนี้คือกลุ่มธุรกิจเดินเรือที่มีลูกค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว  รวมทั้งกลุ่มผู้บริหารท่าเรือ  ซึ่งเข้าต้องรวมมาเป็นกลุ่ม  เพื่อลงทุนร่วมกัน  ส่วนชาติตะวันออกกลาง เช่นประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็สนใจแต่จะมาในรูปแบบของผู้ร่วมลงทุน  

ขณะที่การสัมมนาในวันที่สอง เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง เรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (Mega Project) มุมมองของคนพื้นที่  มีหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งชาวระนองและใกล้เคียง เข้าร่วมสัมมนา

ครั้งนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านโครงการ โดยผู้ที่เห็นด้วยมองว่า จะเป็นโอกาสช่วยสร้างงานสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสร้างความเจริญของประเทศเป็นอย่างดี และเป็นการคำนึงถึงภาพรวมในระดับประเทศที่จะสนับสนุนให้อนาคตของลูกหลานและคนในพื้นที่มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้หลากหลายมากขึ้น 

ส่วนผู้ที่คัดค้านโดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบใน อ.พะโต๊ะ ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเกษตรที่มีรายได้อย่างมั่นคง จากการทำสวนทุเรียน สวนปาล์ม อยู่แล้ว

ชุมพร-ระนองหนุนเดินหน้า “แลนด์บริดจ์” เอกชนหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้

ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ได้รับฟังความคิดเห็นและจะนำไปเป็นข้อมูลรวบรวมต่อไป และได้ชี้แจงในเบื้องต้น เกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเทคโนโลยีที่จะมาขุดร่องน้ำลึก เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในระดับสากล ทั่วโลก การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งก็ได้มีการวางแนวทางไว้ด้วยแล้ว  ในส่วนของอาชีพประมงพื้นบ้านสามารถทำได้เป็นไปตามปกติ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ก็ยังสามารถทำได้ ในส่วนของท่อนำส่งปิโตรเคมี ก็มีระบบที่ได้มาตรฐาน 

สำหรับเรื่องปิโตรเคมีเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากในอนาคต  ต้องมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับการวางแนวท่อโดยการศึกษาที่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย