คลังซัดแบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ย เร็วและแรง ทำเงินเฟ้อติดลบ

08 ม.ค. 2567 | 09:04 น.

กระทรวงการคลัง ยันแบงก์รัฐพยายามตรึงดอกเบี้ยนานที่สุด ระบุ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เร็วและแรง ทำให้แบงก์มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย พร้อมส่งผลให้เงินเฟ้อติดลบ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาล เราได้พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้สถาบันการเงินของรับ (SFIs) อย่างที่สุด เมื่อ 3 เดือนก่อน รัฐบาลได้มอบหมายให้แบงก์รัฐตรึงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางธนาคารเหล่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แบงก์รัฐบางแห่งได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีการปรับขึ้นเหมือนกัน แต่ปรับขึ้นเพียง MLR เท่านั้น ยืนยันว่า แบงก์รัฐมีการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้กันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาในภาพรวม และในตลาดมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ก็มีความจำเป็นที่ธนาคารต่างๆ จะอยู่ภายใต้กรอบการแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“ธนาคารของรัฐ เราเป็นธนาคารเพื่อประชาชน จึงพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ได้นานที่สุด เป็นไปตามที่เราเคยมีความเห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เร็วและแรงเกินไป และสถานการณ์เงินเฟ้อขณะนี้ติดลบมา 1-2 เดือนแล้ว เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาอย่างใกล้ชิด”

ส่วนมีการคาดหวังให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ตอบว่า ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ คงจะต้องเป็นภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่จะมีการหารือร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเท่าที่ทราบมีการหารือกันเป็นระยะในประเด็นเหล่านี้

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องนี้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีความเป็นห่วงสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เราก็มีหน้าที่ในกรอบหน้าที่ภารกิจที่เรามีตามกฎหมาย แน่นอนว่า เรื่องเงินเฟ้อติดลบส่อไปในทางที่ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวได้

แต่กลไกของรัฐเราก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ให้ประชาชนอยู่ได้ มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพอ กลไกที่เรามีหลายๆ ตัว เช่น พ.ร.บ.งบประมาณที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งผลักดันให้พ.ร.บ.งบประมาณมีผลโดยเร็วที่สุด และกลไกการใช้งบประมาณไปพลางก่อน ก็เป็นกลไกที่เราใช้ได้ เราพยายามทำให้เร็ว และให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด และกลไกดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์เงินฝืดนั้น อยู่ในการจับตาดูว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับนั้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถชี้จัดได้ ส่วนหนึ่งที่อัตราดอกเบี้ยติดลบมานาน 2 เดือน เพราะกลไกของรัฐบาลเองที่เราเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการลดราคาพลังงาน แต่เมื่อถอดพลังงานออกมาจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุด ก็น่าจะยังติดลบ แต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็นความเสี่ยงขนาดนั้น