คลังเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ช่วงรองบ 67 บังคับใช้

04 ม.ค. 2567 | 04:11 น.

คลังเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ประคองช่วงรองบปี 67 มีผลบังคับใช้ สั่งรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน 2.5 แสนล้านบาท กำชับหน่วยงานราชการเตรียมแผนเบิกจ่ายงบลงทุน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อประคองเศรษฐกิจ ในช่วงที่กฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่มีผลบังคับใช้ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงให้หน่วยราชการที่มีงบลงทุนจะต้องเตรียมการลงทุนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยยกร่างทีโออาร์การประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมประมูลโครงการรัฐ เพื่อให้เมื่อกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ การลงนามในสัญญาโครงการจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“ไม่ใช่ว่างบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่เราต้องหามาตรการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงให้หน่วยราชการที่มีงบลงทุน ขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตและยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ ที่ครม.มีมติไป ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย โดยผลที่กลับมาคือทำให้กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นตามไปด้วย”

นายลวรณกล่าวว่า  การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 67 จะเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากเป้ารายได้ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ขณะที่การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในปีนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 2.7 % อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดอกเบี้ยของโลกน่าจะปรับลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 66 ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.66 นั้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.74 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 7%  โดยกรมสรรพากร ถือเป็นกรมที่สามารถจัดเก็บรายได้ให้รัฐบาลสูงสุดจัดเก็บได้ถึง 2.21 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.82 แสนล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 67 ตั้งไว้ 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.53 ล้านล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 717,722 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท ขณะที่กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบ 67  ตั้งวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 258,985 ล้านบาท

“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภานั้น ได้กำหนดรายจ่ายไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.3 %  ส่วนรายได้ของรัฐบาล ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.78 ล้านล้านบาท  ทำให้งบประมาณปี 67 ยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่  6.93 แสนล้านบาท หรือขาดดุล 3.6 % ของจีดีพี”