ผ่าแผน"แลนด์บริดจ์"1ล้านล้าน เกมเชนจ์พลิกขนส่งโลก

22 ธ.ค. 2566 | 05:11 น.

    กระทรวงคมนาคมเปิดแผนแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน ดันโมเดลธุรกิจ ดึงบิ๊กทุนสัมปทาน 50 ปี เกมเชนจ์พลิกขนส่งโลก ฉีกทิ้งรูปแบบเก่ารัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนไม่สนใจ

 

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ที่รัฐบาลมีหมุดหมายเปลี่ยนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการเดินเรือระดับโลกโดยมีชนวนมาจากช่องแคบมะละกา เริ่มแออัด ส่งผลให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นความสำคัญ เดินทางโรดโชว์ ดึงนักลงทุนต่างชาติ เข้าลงทุนเพื่อเปลี่ยน เส้นทางการเดินเรือโลกมาที่ไทย

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGE โอกาสทอง? ช่วง Lanbridge:โอกาสและความท้าทาย จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไทว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ได้ยินมานาน ซึ่งไม่ใช่โครงการใหม่ และที่ผ่านมาได้ผลักดันมานาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างคนต่างทำ จึงเป็นเหตุให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ เอกชนไม่สนใจ

กุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อยู่ที่ รูปแบบธุรกิจ หรือ Business Model ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ไม่สำเร็จ เพราะกำหนดกรอบความคิดแบบเดิมๆ คือ รัฐสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อนแล้วจึงหาลูกค้า

 ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ ดังนี้

1.รูปแบบของธุรกิจ (Business Model) ที่ใช้ในการดำเนินโครงการต้องสามารถแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจเดินเรือได้

2.ต้องมองและบริหารจัดการโครงการฯเป็นท่าเรือเดียวที่เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งด้วยแนวคิด One Port Two Side ที่มีการเชื่อมต่อด้วยแลนด์ลิงค์ ในรูปแบบมอเตอร์เวย์และรถไฟ

และ 3.เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านเวลาและต้นทุนได้ โดยจะต้องลงทุนและดำเนินการโดยผู้บริการเพียงกลุ่มเดียวในลักษณะ Consortium ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการบริหารท่าเรือ ด้านการเดินเรือ ด้านการเงิน และด้านธุรกิจอื่นๆเพื่อลดอุปสรรคในการขนตู้สินค้า

ทั้งนี้สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเห็นประโยชน์ ส่วนภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนก่อสร้างเอง สัญญาสัมปทาน 50 ปี ปัจจุบันได้มีการโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะทำให้การขนส่งสินค้าเปลี่ยนไป

“หากคิดแบบเดิมจะไม่สำเร็จ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและกำหนดแนวทางใหม่โดยความสำเร็จของโครงการ คือ Business Model ที่เน้นการ Operation ที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนความได้เปรียบของยุทธศาสตร์ของตำแหน่งที่ตั้ง”

 ที่ผ่านมาสาเหตุที่โครงการแลนด์บริดจ์ไม่สำเร็จ เนื่องจากในปี 2536 นโยบายรัฐบาลได้มีการศึกษาสะพานเศรษฐกิจในไทย ช่วงกระบี่-ขนอม แต่ถูกยกเลิกเพราะมีการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 44 ซึ่งกันเขตทางไว้ 200 เมตร แต่ไม่ได้การพัฒนาทางรถไฟและท่อส่งน้ำมัน ขณะที่การศึกษาสะพานเศรษฐกิจ ช่วงปากบารา-สงขลา ในปี 2548 ถูกยกเลิกเช่นกัน เนื่องจากโดนต่อต้านจากคนในพื้นที่

  ส่วนการศึกษาสะพานเศรษฐกิจช่วงชุมพร-ระนองแตกต่างจาก 2 โครงการที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงมองที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมอบหมายให้กรมเจ้าท่า,กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปดำเนินการพัฒนาในแต่ละส่วนตามที่ได้รับมอบหมาย ในปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการในรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ทั้งการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือ,รถไฟ และศึกษา EHIA ท่าเรือและ EIA ทางรถไฟ

 อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ในตำแหน่งที่ตั้งนั้นอยู่กับไทยมานาน แต่ปัจจุบันยังได้รับความสนใจสูงขึ้น เนื่องจากความแออัดของช่องแคบมะละกา ซึ่งจะเต็มความจุภายใน 10 ปีข้างหน้าและความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้ทุกประเทศต้องหาเส้นทางสำรอง

  “ประเด็นที่โครงการแลนด์บริดจ์จะกระทบต่อช่องแคบมะละกาของประเทศสิงคโปร์หรือไม่นั้น เรายืนยันไม่ได้แข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าช่องแคบดังกล่าวจะเกิดความแออัด หากเกิดปัญหาจราจรติดขัดจะทำให้เราไม่สามารถหาเส้นทางอื่นสำรองได้ทัน ทำให้แลนด์บริดจ์คือคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็น Game Change พลิกขนส่งโลก”

  นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการโรดโชว์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

               นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯกล่าวว่า            ในภาพรวมของแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาลกำลังลงมือทำ ภาคเอกชนชอบโมเมนตัมนี้ที่ช่วยกันคิดและช่วยกันประสานงาน แต่จะต้องตีโจทย์ให้แตก โมเดลนี้คงต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องและไปทีละสเต็ป อยากจะเสนอว่าจริง ๆ แล้วควรบูรณาการในท่าเรืออ่าวไทยเป็นสเต็ปแรกซึ่งลงทุนน้อยและเสี่ยงน้อยกว่าและเกิดขึ้นได้เร็ว พอสร้างสเกลสินค้าในอ่าวไทยในภาคใต้ตอนบนได้แล้ว แลนด์บริดจ์ซึ่งจะเชื่อมชุมพรกับระนองก็ยังพอมีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีจุดตัดว่าสินค้าจะตัดจุดไหนถึงจะเป็นสเต็ปต่อไปได้

               “ถ้ามองตามตรงเป้าหมายระดับ 40 ล้านทีอียู (การถ่ายลำทั้ง 2 ฝั่ง) ผมยังคิดว่าเทคโนโลยีใดในโลกก็ยังแก้ตรงนี้ไม่ได้ในการจัดการที่จะร่นระยะเวลาที่แท้จริง”