วิกฤต “ทะเลแดง” พ่นพิษ 4 สัปดาห์ สินค้า-วัตถุดิบ เสี่ยงภาวะช็อต

21 ธ.ค. 2566 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 07:46 น.

เอกชนสายเดินเรือ ยอมรับความตึงเครียดใน “ทะเลแดง” กำลังจะส่งผลกระทบตามมาในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า ต้องเฝ้าระวังภาวะสินค้า และวัตถุดิบช็อต แต่เชื่อระยะยาวไม่มีปัญหา พร้อมชี้แนะทางออกรับวิกฤต

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ เปิดเผยถึงสถานการณ์การขนส่งสินค้า หลังเกิดความตึงเครียดในทะเลแดง เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธในเยเมนโจมตีเรือสินค้า จนทำให้บริษัทเดินเรือรายใหญ่ตัดสินใจระงับการเดินเรือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก นำเข้า อย่างแน่นอน และต้องจับตาดูว่าในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า ต้องเฝ้าระวังภาวะสินค้า และวัตถุดิบช็อต เพราะไม่สามารถขนส่งมาได้ตามเวลาที่กำหนด

“คาราวานเรือล็อตสุดท้ายที่จะวิ่งเข้ามายังคลองสุเอซวิ่งจนสุดแล้วก็หยุด ที่เหลือจะวิ่งอ้อมแอฟริกา แน่นอนว่า จะมีผลต่อการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างเอเชียและยุโรป เพราะจะเพิ่มระยะเวลาอีกอย่างน้อย 14-20 วัน ดังนั้นกลุ่มเดินเรือ และผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า ต้องฉุกคิดอีกครั้งก่อนเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตอีกครั้ง เพราะสายเรือทั้งโลกมี 3 กลุ่มพันธมิตร ไม่เข้าคลองสุเอชแล้วจึงต้องระวังสินค้า และวัตถุดิบจะช็อตอีกสัก 4 สัปดาห์ข้างหน้า จึงต้องวางแผนให้ดี”

 

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ

 

สำหรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ยอมรับว่า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสายเรือสินค้าทุกราย มีความกังวลอย่างยิ่งกับการค้า เพราะส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยสินค้าเป็นลำดับแรก ต่อมาคือความปลอดภัยของตัวเรือสินค้าเอง แต่อย่างไรก็ดีในตอนนี้ยังคงประเมินสถานการณ์ไม่ได้ว่าจะจบเมื่อใด ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีการปรับแผนให้ทันกับสถานการณ์

ทั้งนี้ในเบื้องต้นประเมินว่า หากสถานการณ์ยังคงไม่ยุติลงโดยเร็ว ผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้า และส่งออก ต้องลงทุนและบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยอาจต้องเพิ่มจำนวนสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการชะงักงันของสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเองก็มีประสบการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการสินค้าแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง นั่นคือช่วงวิกฤตโควิด-19 และช่วงวิกฤตเรือเอเวอร์ กิฟเวนขวางคลองสุเอซ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

 

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ

 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ตอนนี้ หากมองอีกมุมก็น่าจะเป็นโอกาสได้ เพราะสินค้าและวัตถุดิบบางชนิดที่ไม่สามารถขนส่งได้ทันเวลา หรือให้เวลาขนส่งนาน และมีต้นทุนเพิ่มขึ้นนั้น อาจจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาซื้อสินค้าและวัตุดิบจากไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเองนั้นก็ต้องวางแผนให้ดีและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ   

“ตอนนี้ขอให้ผู้ประกอบการอย่ากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ต้องกังวลว่าจะขายของได้ไหม และเราต้องอยู่ร่วมไปกับความขัดแย้งให้ได้ พร้อมมารีวิวถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจจะเกิดถี่ขึ้นได้ในบางจุดของโลกแต่ไม่ได้ขยายวงกว้าง ซึ่งถ้าจะให้ประเมินผลตอนนี้คงพูดยากว่าเมื่อไหร่จะจบ เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก ส่วนระยะยาวไม่น่ามีผลกระทบหนัก เพราะสายเรือจะค่อย ๆ แก้ปัญหาและผ่านมาได้เหมือนกับช่วงวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้”