“คมนาคม” ปลุก 14 เมกะโปรเจ็กต์ 5.7 แสนล้าน ลุยเปิดประมูลปี 67

01 ธ.ค. 2566 | 09:26 น.

“คมนาคม” ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดันแผนคืบหน้า 72 เมกะโปรเจ็กต์ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุกเดือน จ่อนำร่องเปิดประมูล 14 เมกะโปรเจ็กต์ 5.7 แสนล้านบาท เร่งเปิดประมูล-ตอกเสาเข็มภายในปี 67 ลุยศึกษาระบบฟีดเดอร์เชื่อมสายสีแดง-สายสีม่วง 26 เส้นทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย เบื้องต้นที่ประชุมได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวงสอบเพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย ด้านการขนส่งทางบก, ทางราง, ทางอากาศ, และทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานผลดำเนินงานคืบหน้าแต่ละโครงการทุกๆ เดือนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากนี้กระทรวงจะมีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม ปี 2567-2568 โดยมีตนเป็นประธานในที่ประชุมฯ ภายในวันที่ 20-21 ธ.ค.นี้ 

“คมนาคม” ปลุก 14 เมกะโปรเจ็กต์ 5.7 แสนล้าน ลุยเปิดประมูลปี 67

ทั้งนี้พบว่ามีโครงการที่สำคัญทั้งหมด 72 โครงการ (ปี 2566-2570) แบ่งเป็น ระบบขนส่งทางบก 29 โครงการ ,ระบบขนส่งทางราง 22 โครงการ, ระบบขนส่งทางอากาศ 4 โครงการ, ระบบขนส่งทางน้ำ  4 โครงการ และระบบคมนาคมขนส่งเชิงพื้นที่ (Area Based) 13 โครงการ

สำหรับโครงการสำคัญที่กระทรวงคมนาคมเร่งเปิดประมูลในปี 67 จำนวน 14 โครงการ มูลค่า 5.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการที่จะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2567 มีจำนวน 14 โครงการ วงเงิน 5.7 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท  คาดเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2567 2.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี งานโยธา ฝั่งตะวันตก และงานระบบ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 3.โครงการขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567 4.Service Center ศรีราชา บน M7 ช่วงชลบุรี-พัทยา วงเงิน 1,615 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567 

“คมนาคม” ปลุก 14 เมกะโปรเจ็กต์ 5.7 แสนล้าน ลุยเปิดประมูลปี 67

5.Service Area บางละมุง บน M7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 766 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2567 6.ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงิน 4,508 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 7.โครงการทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล. 402 กับ ทล 4027 และ ทล. 4025 วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 8.สายสีแดงช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,468 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 
 

9.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567  10.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2567 11.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างกันยายน 2567 12.ทางพิเศษ กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม 2567 13.ทางพิเศษสายจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2567 และ 14.รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน นครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 300,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2567

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางฟีดเดอร์ (Feeder) เพื่อเข้าถึง Feeder จำนวน 26 เส้นทาง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง – สีแดง (เพิ่มเติม) ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดยผลการหารือ แบ่งเป็น กรณีที่ 1 - เส้นทางที่มีการตัดระยะทางบริการให้สั้นลง และเส้นทางที่ ขบ. ได้ปรับเส้นทางแล้ว (3 เดือน) กรณีที่ 2 - เส้นทางที่มีการต่อแนวการให้บริการในจุดการเดินทางที่สำคัญ ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินการ (6 เดือน) กรณีที่ 3 – เส้นทางที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินงาน เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินต่างทับซ้อนกับเส้นทางที่มีผู้ให้บริการเดิมหลายราย (23 เดือน) กรณีที่ 4 - เส้นทาง Feeder 26 เส้นทาง ที่รองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง (9-29 เดือนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ สนข. และ ขบ. จะสำรวจเส้นทางร่วมกัน คาดว่าประมาณอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2566 และภายหลังประมวลเส้นทางชัดเจนแล้ว ขบ. จะพิจารณานำไปประกาศฯ เพื่อเสนอเป็นเส้นทางสำหรับการให้บริการต่อไป