สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 พบว่า แม้จำนวนคนจนในปีนี้จะลดลงจากปี 2564 ที่มีจำนวน 4.4 ล้านคน โดยลดลงเหลือ 3.8 ล้านคน แต่เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดยังมีครัวเรือนเกือบจน หรือกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นคนจนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลพบว่า เมื่อพิจารณาความยากจนตามระดับความรุนแรง ในปี 2565 แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามระดับความยากจน ดังนี้
สศช. ระบุข้อมูลว่า สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาความยากจนตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา มีแนวโน้มลดลงอย่าง ต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวชี้วัดช่องว่างความยากจน (Poverty gap) และระดับความรุนแรงของปัญหา ความยากจนที่ปรับตัวดีขึ้น
โดยช่องว่างความยากจน (Poverty Gap) หรือ ระดับความแตกต่างระหว่าง รายจ่ายของคนที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจนกับเส้นความยากจน ลดลงจาก 0.97 ในปี 2564 เป็น 0.79 ในปี 2565 ขณะที่ความรุนแรงของปัญหาความยากจน ลดลงจาก 0.24 ในปี 2564 เป็น 0.19 ในปี 2565
ภาพรวมของสถานการณ์ความยากจนของไทย ในปี 2565 พบว่า ปรับตัวดีขึ้น โดยมีจำนวนคนจนทั้งสิ้น 3.80 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% ลดลงจากปีก่อนที่สัดส่วนคนจน 6.32% และหากพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจน พบว่า ในปี 2565 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.12 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 4.14% ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.24 ล้าน ครัวเรือน
โดยสาเหตุสำคัญของการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ความยากจนในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นและประชาชนส่วนใหญ่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น ส่งผลให้การดำรงชีวิตหรือใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่การบริโภคกลับมาขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า
รวมทั้งการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าส่งค้าปลีก และภาคโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งมีส่วนช่วยให้รายได้ของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2565 มีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่สำคัญ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และ ระยะที่ 5 ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2565 โครงการ คนละครึ่ง ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 เป็นต้น
ขณะที่เส้นความยากจน ในปี 2565 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2564 มาอยู่ที่ 2,997 บาทต่อคนต่อปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร สะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาพรวมประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้ระดับเส้นความยากจนปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้แม้ว่าความยากจน จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังติดอยู่ในกับดักของความยากจน พบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนข้ามรุ่น มีประมาณ 597,428 ครัวเรือน หรือประมาณ 15% ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลสืบเนื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
โดยเมื่อพิจารณาลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาน้อย อัตราการพึ่งพิงสูง และไม่มีเงินออม สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ครัวเรือนมีแนวโน้มเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ ไม่มีเงินออม เด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้รับกำรศึกษาภาคบังคับครบ 9 ปี
นอกจากนี้เกือบ 70% ของหัวหน้าครัวเรือนมีการศึกษาสูงสุดเพียงระดับชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ในด้านโครงสร้างประชากรภายในครัวเรือน พบว่า อัตราส่วนการพึ่งพิงของเด็กและผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานสูงถึง 90%
โดยสัดส่วนของสมาชิกวัยเรียนอายุ 6-14 ปีอยู่ที่ 23.7% หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป โดยกว่า 30% ของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ