รัฐ-เอกชน หนุน "แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง" เชื่อมต่อ"ท่อ-ราง-เรือ"

09 พ.ย. 2566 | 03:07 น.

ภาครัฐบาล -เอกชน ร่วมผลักดัน โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เชื่อมต่อ "ท่อ-ราง-เรือ" บูรณาการโครงข่ายคมนาคม เพื่อการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ

จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้  เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ "โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง" นั้น

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐบาลและเอกชน โดยนายราชัน  มีน้อย  รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดระนอง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน  โดยที่ประชุม มีมติเห็นชอบสนับสนุนการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบและผลักดันโครงการฯดังกล่าว แต่มีความเป็นห่วงในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนด้วย

รัฐ-เอกชน หนุน \"แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง\" เชื่อมต่อ\"ท่อ-ราง-เรือ\"

นายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม เคาะ ท่าเรือใหม่เชื่อม “แลนด์บริดส์” โดยคัดเลือกพื้นที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนองและ พื้นที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามายังแลนด์บริดจ์ 

รวมทั้งสามารถขยายท่าเรือ ในอนาคตให้รองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง 

ผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 1ล้านล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU  หลังจากนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามันกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นการพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทยที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร และทะเลอันดามันที่อ่าวอ่าง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง แบ่งออกเป็นโครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพรและฝั่งระนอง รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท 

รัฐ-เอกชน หนุน \"แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง\" เชื่อมต่อ\"ท่อ-ราง-เรือ\"

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง กรมทางหลวง จะพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง  ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง  และฟังข้อเสนอแนะจากผู้สนใจนักลงทุนต่างประเทศ (Roadshow)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ตลอดจนศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางรางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือให้เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ เสริมประสิทธิภาพการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport)  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ

โดยสร้างท่าเรือชุมพร ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัยนำระบบออโตเมชันมาใช้  ก้าวสู่ Smart  Port และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เป็นสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Landbridge)พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง Motorway  และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นเดียวกัน ตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP)

และพัฒนาท่าเรือระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือแถบประเทศซียใต้ BIMSTEC  ตะวันออกกลาง และแอฟริกา