ดัน ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ สู่ฮับโลจิสติกส์ อนุภูมิภาคแม่โขง

03 พ.ย. 2566 | 02:57 น.

ภาครัฐ-เอกชน เชียงใหม่ ชง 4 แนวทาง ผลักดันศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ สู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง พลิกโฉมค้าชายแดนบนแพลตฟอร์มออนไลน์

เมื่อเร็วๆนี้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานสัมมนา การผลักดันศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อนุภูมิภาค รองรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) สู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน ไทย-ลาว-จีน โดยมีหน่วยงานภาครัฐบาล และองค์กรภาคเอกชน  เข้าร่วมงาน

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) และหัวหน้าโครงการวิจัย "การสร้างห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ กลุ่มธุรกิจ New S Curve กล่าวว่า การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งเชียงของ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อยกระดับพื้นที่การค้าชายแดนอำเภอเชียงของให้กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่าง จีน-อาเชียน 

 

รวมถึงการสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเชียงของ โดยการขับเคลื่อนศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งเชียงของ ให้ยกระดับสู่การเป็นเขตปลอดภาษีครบวงจร (CBEC) มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างจีน-อาเชียน รวมทั้งการเปิดเขตการค้าเสรีกลุ่มอุตสาหกรรมทันสมัย 

ดัน ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ สู่ฮับโลจิสติกส์ อนุภูมิภาคแม่โขง

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความพร้อมของผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย-ลาว-จีน ในการใช้ประโยชน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ และเพื่อระดมสมองกำหนดแนวทางการพัฒนาด่านศุลกากรอำเภอเชียงของ สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน และศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค 

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้นำเสนอมุมมองต่อศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ในมิติการเป็นศูนย์การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาว-จีน (Cross Border E-Commerce: CBEC) ในรูปแบบเดียวกันกับพื้นที่ท่าอากาศยาน ที่สามารถรองรับสินค้าในแบบ LCL เพื่อรวมตู้สำหรับการขนส่งผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ สามารถกำหนดเวลาการเดินรถระหว่างไทย-ลาว-จีน ผ่านเส้นทาง R3A ในแบบสายการบิน ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งด้านเวลาให้กับสินค้าที่มาใช้บริการในเส้นทางนี้ เป็นวิธีการสร้างความแตกต่างให้กับเส้นทางและเหมาะสมกับรูปแบบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว 

แนวทางนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEใช้ศูนย์ฯเชียงของเป็นประตูการค้า CBEC สู่ประเทศจีน และในทางกลับกันศูนย์ฯเชียงของสามารถเป็น Outbound Fulfillment Center ให้กับสินค้าจีนสู่อาเซียน ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของกลายเป็นศูนย์กลาง CBEC ระหว่างจีนกับอาเซียน เป็นประตูการค้าช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย  ทั้งในกลุ่มสินค้าทั่วไปและสินค้าเกษตรพรีเมียม มีช่องทางโลจิสติกส์ และจุดรวมสินค้าสำหรับการส่งออก ผ่านช่องทางการนำเสนอสินค้าบนแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พลิกโฉมรูปแบบการค้าชายแดนแบบดั้งเดิมสู่การค้าชายแดนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีระบบโลจิสติกส์ข้ามแดนที่มีมาตรฐาน

นอกจากนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนประชาคมในท้องถิ่นที่นำเสนอความต้องการที่จะเข้ามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ทั้งเพื่อการแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่บางส่วนรองรับการจัดตั้งสำนักงานขนส่งในพื้นที่ ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)จะทำหน้าที่ผลักดันให้มีการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์ฯเชียงของต่อไป 

ภาครัฐ-เอกชน เชียงใหม่  ชง 4 แนวทาง ผลักดันศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ

สำหรับแนวทางการผลักดันให้อำเภอเชียงของเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ CBEC ได้กำหนดแนวทางสำคัญไว้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ผลักดันผ่านกระทรวงพาณิชย์เพื่อเจรจานำเสนอแนวทางการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนไทย-ลาว-จีน โดยเชื่อมต่อพื้นที่เชียงของ-ห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น-โม่ฮาน (บ่อหาน) เพื่อให้เส้นทาง R3A ใหม่ (ใน 3 ปีข้างหน้าจะเป็นมอเตอร์เวย์ 176 กิโลเมตร) ทำหน้าที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสามประเทศ

ประการที่สอง ประสานงานกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ด่านศุลกากรเชียงของเป็นด่านรองรับสินค้ากลุ่มพัสดุภัณฑ์เร่งด่วน เปิดให้มีคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อพัฒนาสู่การเป็น CBEC Free zone Fulfillment Center และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าเชียงของ

ประการที่สาม นำเสนอข้อมูลการซ่อมบำรุงเส้นทาง R3A เดิมให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวในช่วงแขวงหลวงน้ำทาถึงบ่อเต็น สภาพถนนมีความชำรุดทรุดโทรมมาก โดยนำเสนอผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อขอใช้งบประมาณจาก BRI จีนสำหรับการซ่อมบำรุง

และประการที่สี่ เสนอกระทรวงคมนาคม แก้ไขกฎเกณฑ์ให้ประชาคมท้องถิ่น มีส่วนร่วมกับการใช้ประโยชน์ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ และให้ผู้รับสัมปทานบริหารจัดการที่เป็นบริษัทเอกชน