"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย "สามารถ บอกเริ่มได้ทันที ไม่ต้องรอถึงปีใหม่

16 ต.ค. 2566 | 06:25 น.

"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย " ดร.สามารถโพสต์ "บอกแล้วเริ่มได้ทันที ไม่ต้องรอถึงปีใหม่"ชี้ ยังไม่ทันลดราคา ก็ขาดทุนยับวันละเกือบ 7 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitt ระบุว่า...

วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มแล้ว 2 สาย คือสายสีแดงและสายสีม่วง ผมเคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ว่า 2 สายนี้ซึ่งเป็นการลงทุนโดยภาครัฐทั้งหมดสามารถเริ่มได้ทันที เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ก็ได้ ไม่ต้องรอถึงปีใหม่ตามที่ รมว.คมนาคมได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ในที่สุดก็สามารถเริ่มได้วันนี้ ช้ากว่าที่ผมพูดไว้แค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ? จะต้องติดตาม
 

1. ข้อทักท้วงที่ถูกแก้ไข

ผมเคยแสดงความห่วงใยต่อนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในกรณีที่ผู้โดยสารเคยจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาทตลอดสาย ถ้าให้เขาจ่ายเพิ่มเป็น 20 บาทตลอดสาย เขาย่อมไม่พอใจแน่นอน ควรให้เขาจ่ายในอัตราเดิม ในที่สุด กระทรวงคมนาคมก็เห็นด้วย ให้ผู้โดยสารที่เคยจ่ายต่ำกว่า 20 บาทตลอดสาย จ่ายอัตราเดิม เช่นจากสถานีวัดเสมียนนารีไปสถานีบางเขนเคยจ่าย 14 บาท ก็จ่าย 14 บาทเท่าเดิม เป็นต้น

\"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย \"สามารถ บอกเริ่มได้ทันที ไม่ต้องรอถึงปีใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเคยเสนอแนะไปว่ากระทรวงคมนาคมจะต้องกำหนดระยะเวลาที่ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋ว 20 บาทตลอดสายได้ เช่น ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เป็นต้น เพราะถ้าไม่กำหนด อาจมีผู้โดยสารบางคนใช้รถไฟฟ้าเกินความจำเป็น ประเด็นนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดจากกระทรวงคมนาคม

 

2. ยังไม่ทันลดเหลือ 20 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้า 2 สายนี้ ก็ขาดทุนยับวันละเกือบ 7 ล้านบาท ต่อไปจะขาดทุนหนักขึ้น !

เดิมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 12-42 บาท พบว่าขาดทุนวันลประมาณ 7 แสนบาท ในขณะที่เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ (คลองบางไผ่) 17-42 บาท พบว่าขาดทุนวันละประมาณ 6 ล้านบาท รวม 2 สาย ขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท !

ผมคาดว่าหลังจากลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายแล้ว ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากหากเขาต้องการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายอื่น เขาจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายนั้น ไม่ใช่จ่าย 20 บาท เพียงครั้งเดียว

เมื่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก จะทำให้รถไฟฟ้า 2 สายนี้ ขาดทุนหนักขึ้นอย่างแน่นอน อีกไม่นานก็รู้ว่าจะขาดทุนเพิ่มจากวันละ 6.7 ล้านบาท เป็นเท่าไหร่ !

3. กระทรวงคมนาคมจะลดการขาดทุนได้อย่างไร ?

การนำภาษีของคนทั้งประเทศมาอุ้มผู้โดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับผู้ใช้นโยบายนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องยาก หรือต้องใช้ฝีมือเลย แต่ถ้าเป็นนโยบายที่ผู้โดยสารและประเทศชาติได้ประโยชน์และในขณะเดียวกันสามารถลดการขาดทุนลงได้ นั่นแหละจึงจะเป็นฝีมืออย่างแท้จริง !