บขส.ไม่ถอย เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ “แยกไฟฉาย-ชลบุรี” รอบ 2

12 ต.ค. 2566 | 06:02 น.

บขส.วืด เอกชนเมินชิงซองประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ “แยกไฟฉาย-ชลบุรี” เล็งเปิดประมูลใหม่รอบ 2 ภายในเดือนต.ค.นี้ เล็งพ่วงพื้นที่ปิ่นเกล้า ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้นมิกซ์ยูสเพิ่มรายได้เข้าองค์กร

ที่ผ่านมา “บขส.” พยายามเร่งรัดดันพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 แปลง เพื่อหารายได้เข้าองค์กร นอกเหนือจากการให้บริการเดินโดยสารข้ามจังหวัด

 

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบขส.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนลงทุนพัฒนาที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บขส. ซึ่งมีการศึกษาที่จะนำที่ดิน จำนวน 4 แปลง ที่มีศักยภาพและสามารถนำมาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดรายได้ และกำไรให้บริษัทได้ ประกอบด้วย 1. พื้นที่บริเวณแยกไฟฉาย 2. พื้นที่ย่านชลบุรี 3. พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) และ 4. พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย)

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า หลังจากบขส.ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมประมูลบนพื้นที่บริเวณแยกไฟฉายและพื้นที่ย่านชลบุรีนั้น พบว่ายังไม่มีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ซึ่งบขส.มีแผนจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมประมูลบนพื้นที่ทั้ง 2 แห่งอีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะขยายระยะเวลาการเปิดประมูลไปจนถึงเดือนมกราคม 2567 เพื่อให้เอกชนมีระยะเวลาในการจัดทำแผนข้อเสนอเพิ่มขึ้น

 

“การเปิดประมูลพื้นที่บริเวณแยกไฟฉายและพื้นที่ย่านชลบุรี เป็นครั้งที่ 2 นั้น บขส.มีการปรับเงื่อนไขในการยื่นข้อเสนอของเอกชน โดยให้สิทธิ์เอกชนผู้ที่สนใจเป็นผู้กำหนดให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการลงทุนเข้ามาได้ ทั้งนี้ตามแผนบขส.คาดว่าหากเปิดประมูลพื้นที่ทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะได้ผู้ชนะการประมูลภายใน 1 เดือนหรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และสามารถลงนามสัญญาให้เอกชนเข้าพื้นที่ต่อไป”

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) ขณะนี้บขส.อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิกการเป็นสถานี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดจอดรถตู้ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งไม่ตอบโจทย์แก่ผู้โดยสาร ทำให้มีการจราจรติดขัด อีกทั้งในปัจจุบันบขส.มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณสถานีสายใต้ใหม่ที่สามารถรองรับได้ทั้งรถตู้และรถโดยสาร หากมีการยกเลิกสถานีแล้ว แต่ผู้โดยสารสามารถขึ้น-ลง บนพื้นที่ปิ่นเกล้าเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางได้ คาดว่าจะดำเนินการยกเลิกสถานีปิ่นเกล้าได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2567

 

นอกจากนี้บขส.อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2567 พร้อมกับพื้นที่บริเวณแยกไฟฉายและพื้นที่ย่านชลบุรี ซึ่งเอกชนจะต้องรอให้แผนดำเนินการยกเลิกสถานีปิ่นเกล้าแล้วเสร็จก่อนจึงจะสามารถลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ ทั้งนี้เอกชนรายเดียวมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมการประมูลพื้นที่ของบขส.ได้หลายแห่ง ขึ้นอยู่กับการยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเอกชนด้วย

 

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) ขณะนี้ต้องรอดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของสีผังเมืองเป็นสีน้ำตาล เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ก่อน จากเดิมเป็นสีผังน้ำเงิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นี้ไม่เหมาะสมที่จะนำรถโดยสารขนาดใหญ่เข้ามาให้บริการ เพราะจะทำให้เกิดการจราจรติดขัด หากบขส.สามารถขยับพื้นที่เป็นจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารในบริเวณย่านบางนาได้จะทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 ภายหลังการปรับสีผังแล้วเสร็จ

บขส.ไม่ถอย เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ “แยกไฟฉาย-ชลบุรี” รอบ 2

 “โดยระหว่างนี้บขส.จะเจรจาควบคู่กับเอกชนในพื้นที่ เช่น เดอะมอลล์ ,ไบเทค บางนา เพื่อขอใช้พื้นที่เป็นจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ต้องขอดูความชัดเจนก่อนว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมต่อผู้โดยสารที่มาใช้บริการ รวมถึงสะดวกต่อผู้ประกอบการด้วย”

 

 สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบขส. ทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.พื้นที่บริเวณแยกไฟฉาย พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา ที่ดินมีราคาประเมิน 98.09 ล้านบาท ทำเลที่ตั้งติดถนนจรัญสนิทวงศ์ และรถไฟฟ้า MRT ผังใช้ประโยชน์สีน้ำตาลและสีแดง 2.พื้นที่ย่านชลบุรี จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 5 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ราคาประเมินรวม 151.805 ล้านบาท ติดถนนสุขุมวิท 3.พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) พื้นที่ 15 ไร่ ราคาประเมิน 398.79 ล้านบาท ติดถนนบรมราชชนนี ปัจจุบันใช้ด้านหน้าเป็นจุดจอดรถตู้โดยสาร ผังการใช้ประโยชน์สีส้ม สามารถพัฒนาได้หลายประเภท และ4.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา ราคาประเมิน 1,012.37 ล้านบาท ติดถนนสุขุมวิท รถไฟฟ้า BTS ผังสีน้ำเงิน

 

 อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้เอกชนลงทุนเช่าพื้นที่ ระยะเวลาสูงสุด 30 ปี เบื้องต้นบขส.ประเมินว่า ตามกฎหมาย บขส.จะได้รับค่าตอบแทนค่าเช่ารายปี และค่าธรรมเนียม ในพื้นที่ 3 แห่ง รวมประมาณ 1,094 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่แยกไฟฉาย 190 ล้านบาท ,พื้นที่ย่านชลบุรี 364 ล้านบาท ,พื้นที่ย่านปิ่นเกล้า 540 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนที่ดินพื้นที่ย่านเอกมัย อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและประเมิน