“เศรษฐา” ประกาศเปิดประเทศ ดึงต่างชาติลงทุนในไทยครั้งใหญ่

29 ก.ย. 2566 | 03:48 น.

“เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประเทศ ยกระดับการลงทุนครั้งใหญ่ ดึงต่างชาติเข้าไทย ชี้กลางเดือนพ.ย. ร่วมประชุมเอเปค หวังปิดดีลลงทุนใหญ่ จ่อถก “ญี่ปุ่น” สร้างแรงจูงใจช่วงสุดท้ายรถสันดาป

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Next Chapter ประเทศไทย จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ ว่า การประชุมสหประชาชาติ เป็นการประกาศให้ผู้นำทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจกับทุกๆ ประเทศ เราจะมีผู้นำ และคณะรัฐบาลเดินทางออกไปเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกประเทศ จะให้ความสำคัญกับการทำสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) 

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่เราแพ้เวียดนามคือเรื่อง FTA ที่ไทยมีน้อยกว่า เพราะไทยไม่ได้ออกไปประกาศว่าเราจะมีการเปิดประเทศครั้งใหญ่ และไม่ได้นำเอกชน องค์กรรัฐที่ให้การสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนในการโฆษณา

นายเศรษฐา กล่าวว่า จากการประชุมสหประชาชาติ หลายบริษัทให้ความสนใจ เช่น Tesla, Google และ Microsoft เป็นต้น ซึ่งการลงทุนครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญ และจะมีธุรกรรมต่อเนื่องมาอีก เรามีความคาดหวังอย่างสูงว่าจะเกิดขึ้น และจะมีการหารือต่อเนื่อง

ซึ่งการประชุมเอเปค ในซานฟรานซิสโก ช่วงกลางเดือนพ.ย.66 ก็มีการนัดหมายกันแล้วว่าจะมีการหารือต่อ และเป็นความหวังว่าจะมีการตกลงกันได้ในขั้นพื้นฐานในกับหลายบริษัท ซึ่งเป็นนิมิตรหมายอันดีกับทั่วโลกว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมสำหรับยกระดับการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะภาคการเกษตรได้อย่างเดียว

“เราต้องไปเชื้อเชิญเขามาลงทุน และให้ความมั่นใจว่าเรามีแพ็คเกจการสนับสนุนให้เขาลงทุนอย่างดี และเหนือสิ่งอื่นใด การเข้ามาลงทุนก็มีการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชาวต่างชาติด้วย การที่เขาจะมาอยู่ วิธีการทำธุรกิจ การทำวีซ่าก็ต้องได้รับการสนับสนุนที่ดี”

ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องมีอย่างต่อเนื่อง เรื่องของสนามบินก็สำคัญ ฉะนั้น จะกระจุกตัวอยู่เพียงกรุงเทพ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องมีการขยายเป็นอย่างมาก

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นแค่ประเด็นหนึ่ง เราต้องการเน้นระยะเวลาการเป็นอยู่ จะต้องมีการพัฒนาเมืองรอง เพื่อสร้างความต้องการของต่างประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงต่างๆ ต้องช่วยกันโปรโมท ซึ่งจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนธ.ค.66 จะมีการเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อหารือเรื่องยานยนต์ โดยญี่ปุ่นมีความกังวลเรื่องตลาดรถอีวี ว่ารถอีวีเข้ามาในประเทศไทยแล้วจะทำให้เขาเสียเปรียบด้านธุรกิจ เพราะการพัฒนารถอีวีเขาอาจช้าไปเล็กน้อย ซึ่งเรายืนยันกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่ารัฐบาลนี้ไม่ลืมต้นน้ำ ไม่ลืมพระคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่นที่ช่วยเหลือไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“ถึงแม้ว่าเราสนับสนุนอีวี ก็ยังสนับสนุนต่อไป และยังดูแลธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะรถสันดาปต้องมีต่อไปใน 10-15 ปี และจะทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนยังมีในประเทศไทย หากทำไปโดยไม่มีการสนับสนุน ภาคอุตสาหกรรม พี่น้องประชาชนจะเดือดร้อน ซึ่งเราจะมีการหารือเรื่องนี้ต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ ในเดือนธ.ค.นี้ จะหารือกับสมาคมยานยนต์ ว่าจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป ซึ่งอาจจะมีการสร้างแรงจูงใจบางประการ เพื่อให้รถสันดาปมีอนาคตยาวออกไป เพื่อให้ซัพพลายเชนมีอนาคตกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจประชาชาชนเดือดร้อนมาก หากไม่มีการเยียวยาหรือบริหารจัดการ ซึ่งหลายท่านอาจจะเรียกว่าประชานิยม หรือนโยบายหาเสียง แต่มีอีกหลาย 10 ล้านคนที่เดือดร้อนอยู่กับปัญหาปัจจุบัน รัฐบาลนี้มาเพื่อประชาชน อะไรที่สามารถทำได้ ก็ลงมือทำเลย เช่น การลดค่าไฟ 2 ครั้ง ปัจจุบันเหลือ 3.99 บาท เพื่อให้ความมั่นใจต่อประชาชน และการพักหนี้เกษตรกร เป็นต้น

ทั้งนี้ การพักหนี้มีการทำมาแล้วถึง 13 ครั้ง ภายในระยะเวลา 9 ปี แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น ซึ่งในรอบนี้เราไม่อยากให้มีการพักหนี้ระยะต่อไปอีก โดยจะมีการใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และการเพิ่มรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะไปเปิดตลาดใหม่ เพราะไทยยังมีตลาดด้อยกว่าประเทศอื่นๆ

โดยไทยให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอียู หากเปิดตลาดเหล่านี้มากขึ้น จะทำให้มีดีมานด์มากขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น และจะนำนวัตกรรมการให้ปุ๋ยตรงตามความต้องการ และระบบชลประทานที่ดีกว่า ซึ่งจะเป็นการบูรณาการแก้ปัญหา และจะทำให้การพักหนี้เกษตรกรน้อยลง

“หลายท่านคงมีคำถามในใจว่า การจำนำประกัน หรือจ้างผลิต รัฐบาลนี้จะมีไหม ก็บอกว่าเราไม่มีความประสงค์จะมี เราใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม ยกเว้นแต่มีภัยพิบัติร้ายอย่างแรง ที่ต้องช่วยเหลือจุนเจือเกษตรกร ตรงนี้เราตระหนักดีว่าเป็นอะไรที่เราไม่ควรจะทำ”

นอกจากนี้ มีความกังวลเรื่องน้ำแล้ง ที่อาจจะกระทบภาคการเกษตรกร และอุตสาหกรรม โดยหากไม่มีการรบริหารจัดการน้ำดีกว่านี้ น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมจะขาดแคลนภายในเดือนเม.ย.67

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีความตระหนัดดี จึงเริ่มมีการผันน้ำเข้ามา และทำให้มีความหวัง ซึ่งมีผลต่อการไปขยายตลาด หากไปเชิญให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หากเราประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ก็จะเป็นข้อจำกัดเข้ามาลงทุน เพราะอุตสาหกรรมต่างๆ มีความต้องการน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ควบคู่ไปกับการเกษตรกรรมทั้งหมด