"BOI" ชี้ 1 ปี LTR Visa สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท

19 ก.ย. 2566 | 07:15 น.

"BOI" ชี้ 1 ปี LTR Visa สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท เผยมีผู้ยื่นขอรวม 4,842 ราย ชี้เป็นยุโรปมากที่สุด 2,179 ราย ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 810 ราย และจีน 507 ราย ระบุเป็นมาตรการสำคัญที่ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า หลังเปิดตัววีซ่าพำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1 ก.ย. 2565 – 31 ส.ค. 2566) มีผู้ยื่นขอ LTR Visa รวม 4,842 ราย โดยชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป 2,179 ราย สหรัฐอเมริกา 810 ราย และจีน 507 ราย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • ผู้เกษียณอายุที่มีบำนาญหรือรายได้อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จำนวน 1,451 ราย คิดเป็น 30%
  • ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย จำนวน 1,228 ราย คิดเป็น 25.4% 
  • ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 757 ราย คิดเป็น 15.6% 
  • ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จำนวน 304 ราย คิดเป็น 6.3% 
  • คู่สมรสและผู้ติดตาม จำนวน 1,102 ราย คิดเป็น 22.8%

ทั้งนี้ 1 ปีของการดำเนินงาน พบว่า ผู้ยื่นขอใช้สิทธิตามมาตรการ LTR Visa ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มาจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่มีการตั้งสำนักงานในประเทศไทย เช่น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

BOI ชี้ 1 ปี LTR Visa สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท

,บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน ,บริษัท ดูคาติ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นิวลี่ เว็ดส์ ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงบริษัทไทยที่ต้องการบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ เช่น บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (SCB DataX) เป็นต้น ซึ่งบีโอไอประเมินว่าบุคลากรที่ยื่นขอ LTR Visa จะมีการใช้จ่ายราว 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอวีซ่ากว่า 4,000 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับ LTR Visa เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ที่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว การอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานในประเทศไทย ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน 

ซึ่งบีโอไอจะดำเนินการในเชิงรุก เพื่อสนับสนุนและสร้างบรรยากาศ รวมถึงระบบนิเวศที่ดีต่อการลงทุนในไทย เช่น การอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจ การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี LTR Visa นอกจากเป็นเครื่องมือ ในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วแล้ว ในระยะยาวยังเป็นเครื่องมือในการสร้างศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ และความได้เปรียบด้านสังคม วัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ทำให้ใครก็ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

จากรายงาน Expat Insider 2023 ที่จัดทำโดยเว็บไซต์ InterNations ซึ่งมีเครือข่าย Expat เป็นสมาชิกกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 53 ประเทศ ขยับจากปี 2022 ที่อยู่อันดับ 8 และปี 2021 อยู่ในอันดับ 12 

รายงานฉบับดังกล่าว ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีระดับความสุขของการทำงานของ Expats ถึง 86% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก อยู่ที่ 72% ดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติของไทย