DSI เรียก 65 บริษัทสอบปมเอี่ยว ฮั้วประมูล “กำนันนก”

12 ก.ย. 2566 | 12:33 น.

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เรียก 65 บริษัทสอบเอี่ยวฮั้วประมูล “กำนันนก” เข้าชี้แจงวันที่ 18 – 20 กันยายนนี้ หลังพบเบาะแสข้อมูลการประมูลโครงการก่อสร้างรัฐน่าสงสัย

กรณีต่อเนื่องเกี่ยวกับธุรกิจของ กำนันนก นครปฐม หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย กำนันตำบลตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม ผู้ต้องหาคดีสั่งยิง ตำรวจทางหลวง เสียชีวิต โดยเฉพาะขุมข่ายธุรกิจของกำนันนก ซึ่งเขามีชื่อเป็นหนึ่งในถือหุ้นในบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อดังแห่งนครปฐม อย่างน้อย 2 แห่ง เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างในโครงการของรัฐ มากกว่า 1,311 สัญญา นั้น

ล่าสุด พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ กองคดีฮั้วประมูลฯ ได้ดำเนินการสืบสวนกรณี บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ที่มีกำนันนก เป็นกรรมการบริษัท และได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน จำนวนกว่า 1,300 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท 

ภายหลังพบเบาะแสข้อมูลการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน มีการกระทำผิดเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า DSI ได้มอบหมายให้นักวิเคราะห์บัญชีดำเนินการตรวจสอบงบดุลของทั้งสองบริษัท และบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายน่าสงสัย หลังพบว่า รายได้ไม่สอดคล้องกับงบดุลของบริษัท และตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเงินที่ถูกมาจดจัดตั้งบริษัทมีที่มาอย่างไร เช่นเดียวกับทรัพย์สิน ทั้งอาคารที่พัก บ้านพัก รถหรู เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ DSI ยังได้ออกหมายเรียกพยาน 65 บริษัท เข้าชี้แจงข้อมูล ในวันที่ 18 – 20 กันยายน นี้ หลังพบว่า บริษัททั้งหมดนี้เคยมีการยื่นซื้อซองใน 2 โครงการ ประกอบด้วย การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมาย 346 ในปีงบประมาณ 2564 และการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว ในปีงบประมาณ 2560 

แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ถือเป็นพฤติการณ์ต้องสงสัย จากนั้น DSI จึงจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัททั้ง 65 แห่ง 

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า ในการสอบปากคำบริษัทเหล่านี้ในฐานะพยานนั้น ได้ถามผู้ยื่นซื้อซองว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประมูลเหล่านี้ได้อย่างไร มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และระหว่างนั้นเคยถูกข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญไม่ให้เข้ามาด้วยวิธีประกวดแบบ e-bidding หรือไม่

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า จากกรณีคดีในท้องถิ่นที่ผ่านมา พบว่ามักจะมีมือที่สามโทรศัพท์ไปข่มขู่ มีพฤติการณ์การกีดกันราคาเกิดขึ้น บางคนอาจจะไม่รู้ พอไปยื่นซื้อซองในพื้นที่ที่มีคนดูแลอยู่แล้ว ก็มักจะมีกลุ่มคนที่เข้ามาอ้างว่าโครงการเหล่านี้ถูกกันไว้แล้ว อ้างว่าเป็นโครงการของผู้ใหญ่ เป็นต้น 

“ในการเตรียมเข้าตรวจค้น จะเข้าตรวจค้นเพื่อรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติม และเมื่อดำเนินการต่อเนื่องจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความชัดเจน จะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป คือ ขอศาลอนุมัติตรวจค้นบริษัทรายสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องต่อไป”