ลักลอบขนเงินสดเข้าไทยพุ่ง 1,000% "อาคม" หวั่นฟอกเงินสั่งเข้มตรวจ

03 ส.ค. 2566 | 04:58 น.

รมว.คลัง สั่ง "ศุลกากร" เข้มตรวจลักลอบขนเงินสดเข้าไทย หวั่นเป็นแหล่งฟอกเงิน หลังพบสถิติการจับคุมเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันเปอร์เซ็นต์ ชี้ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติมาในรูปแบบนักท่องเที่ยว

นายอาคม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีการหลักลอบขนเงินสดเข้าประเทศไทย ว่าในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของศุลกากรที่จะต้องดูแลจัดการ ซึ่งมีการลักลอบ แอบ หรือยัดตาม ช่องลับในกระเป๋าเดินทางผ่านสนามบินเข้ามา

ศุลกากรมีการตรวจเข้มอยู่แล้ว แต่การลักลอบขนเงินสดนี้ มีการไหลเข้ามาตามสนามบิน ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้จะแฝงตัวเดินทางเข้ามาเหมือนนักท่องเที่ยว โดยมีพฤติกรรมเหมือนการลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งได้รับรายงานจากกรมศุลกากรว่ามีกลุ่มที่กระทำการลักลอบขนเงินสดเข้าประเทศเยอะขึ้น ทั้งนี้ เงินสดเหล่านี้คาดว่าเป็นเงินที่ไม่สะอาด ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมศุลกากร มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านกรมศุลกากรก็มีการทำงานที่เข้มงวดมาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องลักลอบนำเข้าเนื้อหมู หรือยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้รายงานว่า กำลังอยู่ในระหว่างประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อ จัดการและป้องกันการกระทำผิดเหล่านี้ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กรมศุลกากร ได้ตรวจสอบพบข้อผิดสังเกตว่ามีการลักลอบนำเข้าเงินสดในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งมีสถิตจับกุมได้เกือบทุกวัน หรือมีสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นหลักพันเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดประเทศหลังจากโควิด ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาลักษณะเป็นนักท่องเที่ยว และมีการขนเงินสดหลากหลายสกุลเงิน ทั้งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินเยนเป็นต้น

ทั้งนี้ กรณีล่าสุด กรมศุลกากรพบว่า ชาวต่างชาติขนเงินสกุลเยนเข้าประเทศไทยราว 50 ล้านเยน โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่จะซุกซ่อนเงินสดเหล่านี้ คล้ายกับการลักลอบขนยาเสพติด คือ การปรับปรุงภายในกระเป๋าเดินทาง ตามขอบกระเป๋า เพื่อทำช่องลับและซุกเงินลงไป จากนั้นจะกลบเกลื่อนด้วยเสื้อผ้า หรือของใช้ทั่วไป แสดงถึงเจตนาชัดเจนว่าต้องการหลบ หรือซ่อนเงินสดไว้และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฟอกเงิน ซึ่งของหรือเงินสดที่ถูกซุกซ่อนไว้สามารถตรวจจับได้ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ค่อมสายพานขนกระเป๋าของกรมศุลกากรได้     

สำหรับปัจจุบันพิธีการกรมศุลกากรได้กำหนดว่า บุคคลธรรมดา หรือนักท่องเที่ยวสามารถ นำเงินสกุลบาทติดตัวเข้าหรือออกไปยังต่างประเทศได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท แต่หากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มาเลเซีย รวมทั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน (เฉพาะมณฑลยูนนาน) สามารถนำเงินสกุลบาท ติดตัวออกไปได้ ไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยหากเกินกว่า 450,000 บาท จะต้องสำแดงรายการเงินตราไทยนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร

ส่วนสกุลเงินต่างประเทศ ทั้งขาเข้าและออก ปัจจุบันไม่มีการจำกัดจำนวนเงินตราต่างประเทศ หรือปัจจัยการชำระเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากบุคคลใดนำเงินตราต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกไปนอก หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีมูลค่ารวมกันเกินกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันดอลล่าร์สหรัฐ(15,000 ดอลล่าร์สหรัฐ) หรือเทียบเท่า ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร

ส่วนบทลงโทษของการลักลอบนำเข้า หรือออก เงินสดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมศุลกากร คือ โทษปรับ โดยปรับเพียง 10% จำนวนเงินส่วนที่เกินกำหนด แล้วคืนเงินให้กับผู้ที่โดนโทษปรับไป ส่วนข้อมูลการจับกุมการลักลอบขนเงินสดเข้าหรือออกประเทศ กรมศุลกากรก็จะรายงาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งกรณีผู้กระทำชาวต่างชาติก็จะติดตามดำเนินคดียาก 

อย่างไรก็ตามบทลงโทษกรณีการลักลอบขนเงินสดนั้น เบากว่าการลักลอบขนสินค้า เนื่องจาก กรณีของสินค้านั้น หากกรมศุลกากรจับกุมได้ ก็จะมีโทษปรับเป็นมูลค่า  2 เท่าของสินค้า ส่วนสินค้าผิดกฎหมายก็จะยึดของกลาง และนำไปสู่กระบวนการทำลายต่อไป  ดังนั้น กรมศุลฯ กำลังแก้ระเบียบการปรับให้หนักขึ้น  เข่นการยึดเงิดสดทั้งจำนวน เป็นต้น