จ้างงานซบ-หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง โจทย์ยากท้าฝีมือรัฐบาลใหม่

28 ก.ค. 2566 | 06:36 น.

“ธนิต โสรัตน์” มองโจทย์ยากท้าทายฝีมือรัฐบาลใหม่ เข้ามาแก้ปัญหาประเทศทันไหม? หลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผสมด้วยการเมืองในประเทศ และการจ้างงานซบเซามีผลต่อหนี้ครัวเรือนและหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความวิชาการ เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจ-การเมืองและการจ้างงานซบเซามีผลต่อหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง โจทย์ยากรอรัฐบาลหน้ามาแก้ปัญหาจะทันไหม? โดยระบุว่า 

ท่ามกลางบรรยากาศเกมส์การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อรักษาสืบอำนาจเดิมให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การเลือกตั้งผ่านมาสองเดือนครึ่ง พรรคการเมืองที่รวมเสียงได้ 75% ของผู้มาเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ภาพที่เห็นอยู่ในขณะนี้พรรคการเมืองขั้วต่างๆ แยกเป็น 3 ก๊กอย่างชัดเจน 

หากรวม “สว.” คงเป็นอีกก๊กหนึ่ง การชิงไหวชิงพริบอ้างประชาชนและประเทศจับก๊วนผูกกันแน่นเพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วงชิงอำนาจรัฐ การจัดตั้งรัฐบาลแนวโน้มน่าจะอีกยาวเพราะมีเงื่อนไขและโจทย์ยากคงตกลงกันไม่ได้ง่ายๆ 

อีกทั้งมีการยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินนำสู่การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมรัฐสภามีมติเกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรีได้ครั้งเดียวว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือคงใช้เวลาอย่างเร็วไม่น้อยกว่าเกือบครึ่งเดือนอาจทำให้การโหวตนายกฯ คงไม่ได้ข้อยุติได้ในเร็ววัน

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

วิตกภาวะสุญญากาศการเมือง

สุญญากาศการเมืองเป็นข้อวิตกของภาคเอกชนตั้งแต่พ่อค้า-แม่ค้าแผงลอย-ธุรกิจรายย่อย-ขนาดเล็ก-ขนาดกลางไปจนถึงระดับรายใหญ่หรือเจ้าสัว เศรษฐกิจเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้านไปจนถึงเกษตรกรซึ่งต่างรอรัฐบาลใหม่ที่พวกเขาเลือกเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา การเมืองที่มีเสถียรภาพสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานและการลงทุนทั้งเพื่อขยายธุรกิจหรือลงทุนใหม่ 

การตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าเพราะมี กลไก “Invisible Hand” ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการฟื้นเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะค่อนข้างนิ่งจากภาคส่งออกที่หดตัวทำให้อุตสาหกรรมและบริการที่อยู่ในซัพพลายเชนได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปส่งผลต่อการชะลอตัวของการจ้างงานและรักษาการจ้างงาน

อัตราการว่างงานของไทย

ดร.ธนิต ระบุว่า ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) ช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 66) เพิ่มขึ้นสุทธิเพียง 106,392 คน หรือเพิ่มขึ้นแค่ 0.915% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก จำนวนผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมเดือนมิถุนายนมีจำนวน 250,010 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.04% สูงสุดในรอบ 15 เดือน เทียบกับเดือนพฤษภาคมอัตราการว่างงาน 0.4% 

ความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจทำให้มีผู้ว่างงานประมาณ 3.604 ถึง 5.12 แสนคน และยังมีผู้ว่างงานแฝงจากชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่า 1 ชั่วโมงมีจำนวนประมาณ 1.482 ถึง 5.232 แสนคน จำนวนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับนิยามการว่างงานและวิธีการสำรวจของสนง.สถิติแห่งชาติในแต่ละช่วงเวลา

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การฟื้นตัวของวิกฤตโควิด-19

ฉากทัศน์ภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบางจากการฟื้นตัวของวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19และปีนี้เจอภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคส่งออกได้รับผลกระทบโดยครึ่งปีแรกของพ.ศ. 2566 มูลค่าเชิงเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 5.38% เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหดตัวถึง 6.39% สูงสุดในรอบ 3 เดือน 

ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน คลัสเตอร์ส่งออก 30 อันดับแรกหดตัวเกินกว่า 1 ใน 2 ประเทศคู่ค้าส่งออกที่เป็น 15 อันดับแรกหดตัวถึง 14 ประเทศ ประเมินว่าการส่งออกที่หดตัวอาจมีผลต่อรายได้ของประเทศที่ลดลงประมาณ 1.734 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 27 ก.ค. 34.106 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) 

แต่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาปลอบใจว่าเป็นการหดตัวจากส่งออกปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีและหลายประเทศติดลบมากกว่าไทย ด้านการนำเข้าเดือนมิถุนายนหดตัวสูงถึง 10.26% สินค้าประเภททุน-เครื่องจักร, วัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคล้วนหดตัวทั้งสิ้น

ครึ่งปีหลังภาคการผลิตยังคงซบเซา

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าครึ่งปีหลังภาคการผลิตยังคงซบเซาทั้งด้านกำลังการผลิตและการลงทุนเป็นผลจากการชะลอตัวของออเดอร์คำสั่งซื้อทั้งจากส่งออกและในประเทศซึ่งจะกระทบไปถึงภาคบริการที่ยังคงตึงตัวโดยเฉพาะค้าส่ง-ค้าปลีก, โลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ ภาคเอกชนต่างเร่งระบายสต็อคและสินค้าให้มากที่สุดเกี่ยวข้องกับการรักษาสภาพคล่องและดอกเบี้ยที่สูง 

มีเพียงภาคท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการฟื้นตัวอย่างเป็นนัยประมาณ 3 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนมีวิกฤตโควิดคาดว่ารายได้ท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อาจมีมูลค่า 1.25 ล้านล้านบาท ครึ่งปีหลังภาคการบริโภคยังไม่มีแรงพอที่จะอุ้มเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อการจ้างงาน 

สภาวะเช่นนี้สอดคล้องเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน โดยเฉพาะประเทศจีนมีการปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวพุ่งสูงถึง 21.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่อาจตามมา

 

ภาพประกอบข่าวโจทย์ยากท้าทายฝีมือรัฐบาลใหม่ เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ

 

เศรษฐกิจเปราะบางจ้างงานซบเซา

ปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางนำไปสู่การจ้างงานที่ซบเซาทำให้รายได้ของแรงงานและรายได้ครัวเรือนลดลงไม่ได้สัดส่วนกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำแต่เป็นการเทียบกับปีที่ผ่านมาที่อัตราเงินเฟ้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือพูดง่าย ๆ คือราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นแล้วทรงตัวไม่ได้ลดลงยกเว้นราคาน้ำมันเบนซินเอทานอล 95 ที่ปรับสูงขึ้นจากต้นปีลิตรละ 3.35 บาท สูงขึ้น 10.15% 

ผลที่ตามมาเมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายทำให้ต้องไปก่อหนี้ที่สูง จากการแถลงข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าคนไทยและภาคธุรกิจไตรมาสแรกปีนี้มีหนี้รวมกัน 15.96 ล้านล้านบาท แต่ข้อมูลจากเว็ปไซต์ของ “ธปท.” ปรับปรุงล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่าหนี้ครัวเรือนมีจำนวน 15.194 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 86.3% ของ GDP (บางข้อมูลระบุ 90.6%)

หนี้ครัวเรือน-หนี้เสียสูงขึ้น

สถานภาพหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้สถาบันการเงินทั้งของรัฐและธนาคารพาณิชย์รวมกันมีสัดส่วน 84.5% ตามด้วยหนี้ส่วนบุคคลในรูปแบบบัตรเครดิต-ลิซซิ่งและสินเชื่อต่างๆ มีจำนวน 1.848 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.16% และมีหนี้โรงรับจำนำอีก 82,264 ล้านบาท ในช่วงหนึ่งปีหนี้ครัวเรือนนอกจากไม่ลดยังเพิ่มสูงขึ้น 5.376 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.69% 

หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงขึ้นควบคู่ไปกับหนี้เสียที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว หนี้เสียซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมามีจำนวน 2.2 ล้านบัญชีมูลหนี้ 1.8 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ธปท. และสถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างแก้หนี้แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อทำให้การแก้หนี้ครัวเรือนที่ผ่านมาไม่ได้ผลมากนัก 

ขณะที่ ภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่สามารถปลดหนี้ได้ทำให้มีหนี้เรื้อรังที่จ่ายแค่ดอกเบี้ยยังไม่พอมีจำนวนถึง 5.0 แสนบัญชีหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11.3% ของหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง

ปัญหาหนี้เสียหรือกำลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ที่คาดว่ามีมูลหนี้ใกล้เคียงสองล้านล้านบาท เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและครัวเรือนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นที่มากพอจะชำระหนี้ ภาวะทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นขณะนี้คือทั้งภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และภาคครัวเรือนซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนสภาพคล่องอ่อนแอเกี่ยวข้องกับภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ช้าเป็นโจทย์ยากรอรัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาแก้ 

 

ภาพประกอบข่าว โจทย์ยากท้าทายฝีมือรัฐบาลใหม่ เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ

 

การเล่นเกมส์การเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใดล้วนไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ความล่าช้าของการตั้งรัฐบาลเป็นการฉุดรั้งการแก้ปัญหาของประเทศเกี่ยวข้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณที่ล้าช้าออกไป 6 เดือนกระทบต่อการบริโภคของรัฐและการลงทุนของรัฐที่คาดว่าปีนี้ถึงขั้นหดตัว -2.1% และ -2.2% ตามลำดับ 

ดร.ธนิต ระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือนผลข้างเคียงคือการเพิ่มขึ้นของหนี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งจะเป็นกับดักลดกำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน-อาชีพอิสระตลอดจนเกษตรกรที่รายได้จะลดลงจากปัญหาภัยแล้งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศยิ่งซบเซาหนักมากขึ้น 

การคาดการณ์นี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยแทรกซ้อนกรณีการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ไปอยู่ดูไบปล่อยข่าวจะกลับประเทศไทยในเร็วๆนี้ อีกทั้งหากมีการตั้งรัฐบาลแบบขัดใจประชาชนอาจจทำให้มีการประท้วงไปจนถึงการเมืองลงถนนเหมือนในอดีตจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก

เกมส์การเมืองที่เล่นกันเพียงแค่ประโยชน์ของพรรคหรือพวกหรือเพื่อช่วงชิงอำนาจหรือคงไว้ซึ่งอำนาจเดิม... ผู้ที่รับเคราะห์คือประชาชนรับไปแบบเต็ม ๆ