เจาะงบการเงิน STARK ผู้สอบบัญชีพบพิรุธเพียบ

17 มิ.ย. 2566 | 09:48 น.

เปิดรายงานผู้สอบบัญชีพบพิรุธ งบการเงินบริษัทลูก STARK ปั้นยอดขาย ยอดสินค้าคงเหลือผิดปกติ จ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า ให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่

หลังจากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งงบการเงินงวดปี 2565 ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 15,134 ล้านบาท และขาดทุนสะสมจำนวน 14,999 ล้านบาท

นอกจากนี้ STARK ยังได้ชี้แจงความคืบหน้าการการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit) พบความผิดปกติที่สำคัญในการจัดทำงบการเงิน คือ มียอดขายที่ผิดปกติ มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (advance payments) ผิดปกติ

มียอดขายที่ผิดปกติ

ผู้ตรวจสอบพิเศษตรวจพบรายการขายผิดปกติ จำนวน 202รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาทและ 3,593 ล้านบาท ในปี 2565และ 2564 ตามลำดับ โดยรายการขายผิดปกติตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า

มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ

ผู้ตรวจสอบพิเศษพบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า (stock items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM) และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัทจำนวน 3,140 รายการ

รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง

ผู้ตรวจสอบพิเศษได้จัดทำรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้จากข้อมูลในระบบ SAP เปรียบเทียบกับรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ทางฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่า มีการคำนวณระยะเวลาคงค้าง (outstanding days) ที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้อายุของลูกหนี้ในทุกระยะเวลา (aging range) ในรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ฉบับที่ฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ต่ำกว่าหรือระยะคงค้างน้อยกว่าความเป็นจริง และเมื่อสอบทานย้อนกลับพบว่าความผิดปกติดังกล่าวได้เกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 2565 ที่ผ่านมา

เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (advance payments) ผิดปกติ

ผู้ตรวจสอบบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ณ วันที่ 31ธันวาคม 2565 พบว่า บริษัทได้ทำการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้าโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบในต่างประเทศ (key RM vendor/supplier) ในสกุลเงินบาท เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในอดีตย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบหมายเหตุประกอบงบการเงินและงบการเงินเฉพาะกิจ ปี 2565 พบว่าผู้ตรวจสอบบัญชีได้แสดงความเห็นในหมายเหตุประกอบการตรวจสอบบัญชีเกี่ยวกับความผิดปกติจำนวนมากที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงิน ของบริษัทลูก STARK ดังนี้

รายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ)

ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เฟ้ลปส์ ดอด์จ มียอดลูกหนี้การค้าคงค้างเป็นจำนวนมาก ในยอดดังกล่าว เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 5,005 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 923 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 97 ล้านบาท ก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

รายการขายหลายรายการให้แก่ลูกหนี้การค้าหลายราย รวมเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท ซึ่งบันทึกบัญชีขายและบันทึกการรับชำระเงินภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งโดยปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะให้กำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ (credit terms) ให้แก่ลูกหนี้การค้าเป็นเวลา 60 ถึง 90 วัน ซึ่งรายการดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ และ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าในปี พ.ศ. 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท

นอกจากนี้เงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ

เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้วสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจำนวน 569 ล้านบาท 35 ล้านบาท และ 7 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี) ซึ่งรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

โดยปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าโดยการเปิด Letter of Credit (L/C) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้า รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าวเป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ และยังพบว่ามีการจ่ายเงินออกไปจริงแต่มิได้เป็นการจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้ง 3 รายดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าเป็นลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 เป็นจำนวนเงิน  2,034 ล้านบาท และในเดือนเดียวกัน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ยังได้รับเงินอีกจำนวน 4,052 ล้านบาท

โดยระบุว่าเป็นการรับเงินชำระเงินจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะสนับสนุนว่ามีรายการขายเกิดขึ้นจริง และจากเส้นทางการรับชำระเงิน ได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

รายการสินค้าคงเหลือที่แสดงในรายงานสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีปริมาณสินค้าคงเหลือหลายรายการซึ่งแสดงปริมาณ (quantity) ติดลบ คิดเป็นเงินจำนวนรวม 1,375 ล้านบาท ซึ่งปริมาณสินค้าคงเหลือที่ติดลบดังกล่าวเกิดจากผลแตกต่างจากการตรวจนับสินค้าประจำปีที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2565 ที่ยังไม่ได้ทำรายการปรับปรุงในรายงานทางบัญชี
เฟ้ลปส์ ดอด์จ บันทึกกลับรายการต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง เป็นจำนวนเงิน 2,222 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

รายงานอายุลูกหนี้ (aging report) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564 ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลวันที่ในใบแจ้งหนี้และ/หรือวันครบกำหนดชำระในรายงานอายุลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับใบกำกับการขาย (sales invoice) ข้อผิดพลาดดังกล่าวมีผลต่อการคำนวนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้า ซึ่งมีผลทำให้การบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้การค้าต่ำไปหรือกำไรสุทธิสูงไป 65 ล้านบาท และ 729 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564

รายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท อดิสรสงขลา จํากัด (อดิสรสงขลา)

บริษัท อดิสรสงขลา ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล โดยมีรายได้จากการให้บริการจากการจัดส่งพนักงานไปทำงานให้แก่ลูกค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และในปี พ.ศ. 2565 มีลูกหนี้การค้าจากการให้บริการด้านทรัพยากรคงค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่ง อดิสรสงขลา บันทึกรายได้การให้บริการโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือในการให้บริการ ซึ่งมีผลให้มีการรับรู้รายได้จากการให้บริการและลูกหนี้การค้าสูงเกินจริงเป็นจำนวน 394 ล้านบาท 240 ล้านบาท และ 411 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 ในปี พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

รายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้าในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 136 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานที่ให้บริการแก่ลูกค้า ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีจำนวน 18 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญและไม่ได้สอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ลดลงในปี พ.ศ. 2565 อดิสรสงขลา บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงพนักงานในปี พ.ศ. 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวน 99 ล้านบาท

อดิสรสงขลา แสดงรายการส่วนลดจากการให้บริการเป็นรายการหักในรายได้จากการให้บริการในปีปัจจุบัน จึงทำให้ต้องมีการปรับแก้ไขตัวเลขเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับการแสดงรายการในปีปัจจุบัน โดยการปรับปรุงรายได้จากให้บริการกับต้นทุนการให้บริการในงบการเงินรวมปีก่อนจำนวน 21 ล้านบาท

รายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ไทยเคเบิ้ล)

ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 600 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 89 ล้านบาท ก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายสูงเกินความเป็นจริงและเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง (เนื่องจากเงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน)

ไทยเคเบิ้ล ได้จ่ายภาษีขายให้แก่กรมสรรพากรแล้วสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ซึ่งทำให้ต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าในส่วนของภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับรายการขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจำนวน 50 ล้านบาท และ 9 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ เอเชีย แปซิฟิก  ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง 

1.บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 60%

2.นายกิจจา คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 37.5%

3.นายประเสริฐ คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 2.5% 

ขณะที่ กรรมการลงชื่อผูกพัน ได้แก่ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท นายกิจจา คล้ายวิมุติ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัท

ที่น่าสนใจ คือ “ทีมเอ โฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 60% ใน เอเชีย แปซิฟิก  ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK