“เงินบาท”เผชิญแรงกดดันเพิ่มจากความยืดเยื้อทางการเมือง

29 พ.ค. 2566 | 03:24 น.

“เงินบาท”เผชิญแรงกดดันเพิ่มจากความยืดเยื้อทางการเมือง คาดการณ์ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2% ยิ่งทำให้เงินบาทของไทยเสี่ยงเผชิญการอ่อนค่าทำนิวโลว์

วันที่29พ.ค.66 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า  เงินบาทของไทยเสี่ยงเผชิญการอ่อนค่าทำนิวโลว์ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่น่าจะช่วยสกัดการอ่อนค่าดังกล่าวได้

 ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยปิดที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 26 พ.ค. และกำลังเคลื่อนตัวสู่ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบปีเมื่อเดือนก.พ.ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจากอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ทำให้กองทุนต่างชาติแห่เทขายหุ้นและตราสารหนี้ของไทย ซึ่งถ่วงค่าเงินบาท

      

    "ข้อวิตกกังวลสำคัญที่สุดสำหรับตลาดเงินบาทในขณะนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ว่ากลุ่มพรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภามากพอสำหรับเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่" นายเจฟฟรี จาง นักกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่บริษัทเครดิต อะกริโคล ซีไอบีประจำฮ่องกง กล่าว

ธปท.มีกำหนดประกาศการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันพุธที่ 31 พ.ค. โดยคาดการณ์กันว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2% หลังจากที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.ระบุเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า ธปท.จะยึดมั่นต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 "ผมไม่คิดว่าการตัดสินใจของธปท.จะมีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก เมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ค่อนข้างต่ำของไทยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอื่น ๆ" นายกาลวิน เชีย นักกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราตลาดเกิดใหม่ของบริษัทแนตเวสต์ มาร์เก็ตส์ในสิงคโปร์ระบุ

“เงินบาท”เผชิญแรงกดดันเพิ่มจากความยืดเยื้อทางการเมือง

ส่วนอีกปัจจัยเสี่ยงนั้นคือจีน โดยนักวิเคราะห์บางราย เช่น โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เงินหยวนมีแนวโน้มทรุดตัวลงอีก ขณะที่นักลงทุนจะจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของจีนที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันเดียวกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. เพื่อพิจารณาว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ยังคงเปราะบางหรือไม่

"จีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ดังนั้นค่าเงินบาทจึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของเงินหยวน" นายเชียกล่าว

“เงินบาท”เผชิญแรงกดดันเพิ่มจากความยืดเยื้อทางการเมือง

 ในสหรัฐ กลุ่มนักวิเคราะห์เพิ่มการคาดการณ์ต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายขั้นสุดท้ายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยนายเชียมองว่าดอลลาร์เทียบบาทจะทดสอบระดับสูงสุดของปีนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หากดอลลาร์แข็งค่าเช่นนี้ต่อไป หรือเงินหยวนอ่อนค่าลงอีก