“การรถไฟ” จ่อชงครม.ไฟเขียวกู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.8 หมื่นล้าน

25 พ.ค. 2566 | 06:09 น.

“การรถไฟ” เดินหน้าชง ครม.เคาะกู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.8 หมื่นล้านบาท ลุยดำเนินกิจการปีงบประมาณ 67 หลังแบกดอกเบี้ยเงินต้นอ่วม กระทบหนี้สะสมแตะ 2 แสนล้านบาท

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดประจำปี 2567 พบว่า ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณดังกล่าว ขาดกระแสเงินสดราว 18,000 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท.มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หรือทำมาเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ โดยขณะนี้ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) และได้รับการอนุมัติแล้ว 

ขณะเดียวกันหลังจากนี้ รฟท.จะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติได้หรือไม่ ส่วนการจัดสรรวงเงินดังกล่าว จะเป็นอำนาจของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการพิจารณาความเหมาะสมของแหล่งเงินกู้
 

“ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เราขออนุมัติจัดสรรเงินกู้เช่นนี้มาทุกปี ในวงเงินใกล้เคียงกับที่เสนอขอให้ปีงบประมาณ 2567 เพราะที่ผ่านมาเราต้องนำเงินไปชดเชยภาระทางการเงินที่มีหนี้สะสมอยู่ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ และมีความพยายามในการหารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รฟท.ยังมีภาระหนี้สะสมอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท แต่ยอมรับว่าการดำเนินกิจการในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจาก รฟท.มีภาระอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นที่กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้ที่ รฟท.บริหารกิจการมาแต่ละปี ต้องนำไปชดเชยดอกเบี้ยและภาระทางการเงินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของ รฟท.ยังคงมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ
 

สำหรับข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในปี 2567 ของ รฟท.พบว่ามีการคาดการณ์รายรับรวม 10,661ล้านบาท โดยแบ่งเป็น รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาท รายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 327 ล้านบาท รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 3,736 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ลาดกระบัง 499 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 169 ล้านบาท และรายได้จาการดำเนินงานอื่นๆ 503 ล้านบาท 

นอกจากนี้รายจ่ายครบกำหนดชำระ คือ การชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินกิจการอีกราว 24,195 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายยบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,514 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,111 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน 3,824 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินรถขนส่ง 9,342 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,005 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 5,397 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ติดลบอยู่ที่ 18,970 ล้านบาท