สุญญากาศการเมืองทุบเศรษฐกิจ จีดีพีไทย Q3 ส่อวูบ

20 พ.ค. 2566 | 05:39 น.

นักวิชาการจับตาสุญญากาศการเมือง กระทบกระตุ้นเศรษฐกิจชะงัก ลงทุนชะลอ จีดีพีไทยไตรมาส 3 ส่อวูบ ขณะวาระเร่งด่วนรอรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนมีเพียบ ทั้งแก้ปากท้อง ดันส่งออก-ท่องเที่ยว เพิ่ม FTA ดันศก. BCG เตือนขึ้นค่าแรงนักลงทุนหนี สำนักงบฯจ่อถกคลังรื้อร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 67

บรรยากาศการเมืองไทยหลังเลือกตั้งยังฝุ่นตลบ รอลุ้นพรรคก้าวไกล ผนึกอีก 7 พรรคร่วม เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียงจะฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ที่จะโหวตหรือไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สำเร็จหรือไม่

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้จากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเจรจาการค้าที่สร้างภาะผูกพัน การอนุมัติการลงทุนใหญ่น้อยที่ต้องใช้งบประมาณรัฐไม่สามารถทำได้ ต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายด้านที่สะดุดลง

จับตาจีดีพี Q3 ส่อวูบ

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง คาดจะได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม จะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดความล่าช้า ซึ่งมองว่าจะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (จีดีพี)ของไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้จะขยายตัวลดลง การลงทุนของนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติจะลดลงหรือชะลอตัวลงจากไม่แน่ใจต่อทิศทางการเมืองและหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร

ส่วนภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วน 55% ต่อจีดีพีไทยในปีที่ผ่านมา (ปี 2565 จีดีพีไทย 17.40 ล้านล้านบาท ส่งออก 9.52 ล้านล้านบาท) คาดนับจากนี้จะอยู่ในภาวะทรงตัวถึงชะลอตัวจากไม่มีแรงขับเคลื่อนจากรัฐบาลรักษาการ ขณะที่เวลานี้การส่งออกของไทยไปตลาดหลักๆ ชะลอตัวต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงาน

นอกจากนี้วาระเร่งด่วนที่รอรัฐบาลใหม่เข้าแก้ไขหรือสานต่อมีอีกหลายเรื่อง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่ประชาชนรออยู่ การแก้ไขปัญหาปากท้องที่ค่าครองชีพสูงทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าที่สูง ต้นทุนการผลิตสูงทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม การทำความตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอใหม่ ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเจรจา หรือขอความเห็นชอบจากรัฐบาลในการเปิดเจรจา รวมถึงการหามาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอที่มีข้อตกลงไปแล้ว

 รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากมีต้นทุนด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข นโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่ยังไม่สามารถทำได้จริงหรือเป็นรูปธรรมมากในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในมิติของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างไรก็ดีจากว่าที่รัฐบาลใหม่เป็นพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มองว่าจะสร้างความสง่างามในการเจรจาการค้าและการยอมรับจากต่างประเทศ รวมถึงการเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน และการเปิดตลาดการค้า การทำความตกลงทางการค้า และการลงทุนจะทำได้ง่ายกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา”

สุญญากาศการเมืองทุบเศรษฐกิจ จีดีพีไทย Q3 ส่อวูบ

ส่งออกขาดรัฐช่วยกระตุ้น

สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ที่กล่าวว่า หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่รอรัฐบาลใหม่มาช่วยผลักดันคือการส่งออก ที่เวลานี้ชะลอตัวลง (ตัวเลขติดลบ 6 เดือนต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก) การส่งเสริมสนับสนุนการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน การกระตุ้นการท่องเที่ยวที่กำลังไปได้ดีให้ขยายตัวต่อเนื่องรวมถึงการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ให้เหมาะสม

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

จ่อถกคลังรื้อร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับรายการในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้อนุมัติในหลักการเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามีรายการในงบประมาณใดบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งหากมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การปรับไส้ในของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือการรื้อทั้งฉบับแล้วทำใหม่ ซึ่งจะต้องมาพิจารณารายได้และรายจ่าย รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่หมด

สำหรับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ที่รัฐบาลประยุทธ์ได้อนุมัติไปแล้วนั้น กำหนดให้มีงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ 2.490 ล้านล้านบาท ,รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 3.37 หมื่นล้านบาท, รายจ่ายเพื่อการลงทุน 7.17 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 1.17 แสนล้านบาท

“งบประมาณปี 67 ยังคงเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล คือ รายจ่ายสูงกว่ารายรับ โดยรัฐบาลวางแผนกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 5.93 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณการจีดีพีอยู่ที่ 19.42 ล้านล้านบาท”

ส่วนวงเงินที่รัฐบาลจะสามารถกู้ได้นั้น จะอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเป็นผู้กำหนดไว้ว่า ไม่เกิน 70 % ของจีดีพี โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.2566 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 10.797 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.23 % ของจีดีพี โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่า ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566 หรือสิ้นเดือนก.ย.นี้ ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะขึ้นไปอยู่ที่ 61.73 % ของจีดีพี ทำให้เหลือช่องที่จะกู้อีกราว 8 -9% ของจีดีพี คิดเป็นวงเงินกู้ราว 1.5 ล้านล้านบาท

งบปี 66 เบิกจ่ายแล้ว 1.9 ล้านล้าน

ด้านแหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค.มียอดการเบิกจ่ายรวมแล้ว 1.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.62% ของวงเงินงบประมาณรวม แบ่งเป็น การเบิกจ่ายงบประมาณประจำจำนวน 1.68 ล้านล้านบาท และงบลงทุนจำนวน 2.77 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบ 2566 ต้องให้ได้ไม่ต่ำกว่า 93% ของวงเงินงบประมาณ ขณะที่งบลงทุนรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 70% เพื่อให้เกิดการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ และเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

สำหรับการเบิกจ่ายงบกลางในส่วนที่กรมบัญชีกลางรับผิดชอบ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงสิ้นเดือนมี.ค.2566 มียอดการเบิกจ่ายรวมประมาณ 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 54.84% ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าปีงบประมาณก่อนจำนวน 2.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 10.90% โดยส่วนใหญ่เป็นรายการเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เนื่องจากจำนวนผู้เกษียณอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์เงินงบประมาณงบกลางจนถึงสิ้นปี 2566 จะมีจำนวนประมาณ 5.4 แสนล้านบาท สูงกว่าเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 4.78 หมื่นล้านบาท

รัฐกู้ชดเชยขาดดุลแล้ว 3.7 แสนล้าน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า แผนการก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 66 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท โดยสบน.ดูแลในเรื่องการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ได้มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้ว 3.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 54% ของกรอบวงเงิน ถือว่าเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาสัดส่วนเงินคงคลัง และการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอีกหรือไม่ ซึ่งในปีงบประมาณ 66 วางกรอบกู้เงินชดเชยขาดดุลไว้ที่  6.95 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ตามกรอบทั้งหมด จะต้องดูตามสถานการณ์

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3889 วันที่ 21 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566