“กรมราง” ถอดโมเดลรถไฟฟ้าไต้หวัน สู่การพัฒนาระบบรางของไทย

17 พ.ค. 2566 | 09:24 น.

“กรมราง” เปิดโมเดลรถไฟฟ้าไต้หวัน ลุยศึกษาข้อมูลระบบราง หวังพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในไทย เตรียมชงครม.ชุดใหม่ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ควบคู่ออกใบขับขี่รถไฟผ่านระบบดิจิทัล

“กรมการขนส่งทางราง” 1 ในหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ที่มีหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการเสนอแนะแผนงานการกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลระบบขนส่งทางรางของประเทศไต้หวัน พบว่าประเทศไต้หวันมีวิถีการใช้ชีวิตคล้ายกับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะค่าครองชีพและค่าโดยสารรถไฟฟ้า มีความใกล้เคียงอย่างมาก ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากในประเทศไต้หวันมีประชากร จำนวน 6 ล้านคน โดยมีประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินไทเป (Taipei Metro) จำนวน 2 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้รถไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งเป็น 1 ในเป้าหมายของกรมฯที่จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักแก่ผู้โดยสาร  
 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า การศึกษาข้อมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ด้านระบบขนส่งมวลชน 2.การรักษาระดับการให้บริการในระบบราง 3.การรักษาความปลอดภัย 4.การกำหนดมาตรการต่างๆให้มีความสะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา และ 5.ราคาค่าโดยสาร 

“สิ่งที่เราสนใจจากการศึกษาข้อมูลในครั้งนี้ คือ รถไฟฟ้าใต้ดินไทเป (Taipei Metro) ในประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลภายใต้รัฐบาลกลางที่ลงทุนงบประมาณในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองไทเปเป็นผู้ว่าจ้างบริษัท Taipei Rapid Transit corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าครอบคลุมทั้ง 6 สาย ถือเป็นต้นแบบที่นำไปปรับใช้ในไทยได้ เนื่องจากในอนาคตไทยจะมีระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค เบื้องต้นกรมฯ มีแผนให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของระบบราง ทำให้การพัฒนาระบบรางมีความเหมาะสม สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารได้” 
 

จากการศึกษาระบบรักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้า ยังพบว่า ประเทศไต้หวันมีระบบฟีเจอร์ในกรณีที่รถไฟฟ้าเกิดปัญหาขัดข้องระหว่างเดินทาง ประมาณ 700 ตัวอย่าง ทำให้เมื่อเกิดเหตุต่างๆสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ในกรุงเทพฯได้เช่นกัน

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวต่อว่า หลังจากศึกษาข้อมูลดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นกรมฯได้ดำเนินการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 แล้ว แต่ในวาระที่ 2 กรมฯเสนอเสนอร่างพรบ.ดังกล่าว ไม่ทัน เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปก่อน ทั้งนี้หากมีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ ทางกรมฯจะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... อีกครั้ง โดยจะดำเนินการออกกฎหมายลูก เพื่อสอดคล้องกับระบบความปลอดภัยในการให้บริการแก่ประชาชนด้วย หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบและเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

ขณะเดียวกันกรมฯได้ดำเนินโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... 

“กรมราง” ถอดโมเดลรถไฟฟ้าไต้หวัน สู่การพัฒนาระบบรางของไทย

สำหรับโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) เบื้องต้นกรมฯจะทำการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในระบบรางและระบบกำกับดูแลเพื่อนำมาประกอบการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา เทียบเท่ามาตรฐานของสากล

ขณะที่การเตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล กรมฯได้ศึกษารูปแบบการกำกับดูแลระบบรางของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ และเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทย โดยหนึ่งในกรณีการศึกษาระบบขนส่งทางรางของไต้หวัน พบว่า ไต้หวันได้มีการแบ่งประเภทหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น  2 ประเภท ประกอบด้วย 

1. ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง ซึ่งมีผู้ให้บริการสองรายประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง (TRA) และรถไฟความเร็วสูง (THSR) ซึ่งมีการกำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน) โดยในไต้หวัน เจ้าหน้าที่ขับรถไฟ จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปี สำหรับรถไฟระหว่างเมือง และ 8 เดือน สำหรับรถไฟความเร็วสูง จากนั้นจึงเข้ารับการทดสอบข้อเขียนและภาคปฏิบัติจาก Railway Bureau เพื่อขอรับใบอนุญาต 

ทั้งนี้เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปีและทบทวนความรู้อย่างน้อย1ครั้งใน 3 ปีและต้องสอบใหม่หากใบอนุญาตหมดอายุมากกว่า 6 เดือน ในส่วนของการบำรุงรักษารถขนส่งทางราง ผู้ให้บริการเมื่อสั่งซื้อรถมาแล้วจะมีการขออนุมัติแผนการบำรุงรักษาจาก Railway Bureau และ Railway Bureau จะมีการสุ่มตรวจสอบการบำรุงรักษารถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ 

2. ระบบรถไฟฟ้าในเมืองมีผู้ให้บริการขนส่งทางราง 5 ราย โดยในเมืองไทเปมีผู้ให้บริการจำนวน 1 ราย คือ Taipei Rapid Transit corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ดูแลเรื่องการให้บริการของรถไฟฟ้าในไทเป ก่อนประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมการเดินรถหรือพนักงานขับรถจะต้องได้รับการฝึกอบรม และการทดสอบก่อนการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับรถไฟระหว่างเมือง 


 ไม่เพียงเท่านั้นไต้หวันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินรถ เช่น การติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับปริมาณของผู้โดยสารภายในขบวนรถและแสดงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง ส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึง 99.99% และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่า 95% 

หลังจากนี้คงต้องรอลุ้นว่า “กรมการขนส่งทางราง” จะสามารถเสนอร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้ จะทำให้ค่าโดยสารถูกลง ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของระบบรางดีขึ้นในอนาคต