สรรพากร แจงยิบเก็บภาษีเดินทางออกนอกประเทศ

15 พ.ค. 2566 | 02:30 น.

สรรพากรแจง ภาษีเดินทางออกนอกประเทศ เป็นเพียงการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายทุก 5 ปี แม้กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2526 แต่ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 และหากเสียงส่วนใหญ่ให้เก็บภาษี ต้องประเมินผลความเหมาะสมอีกครั้ง

สร้างความสับสนให้กับสังคมไม่น้อย เมื่อกรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 3-17 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ประกาศใช้เมื่อปี 2526 แต่ได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรทุกกรณีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 โดยกำหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ครั้งละ 1,000 ต่อคน สำหรับการเดินทางโดยทางอากาศ และครั้งละ 500 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยทางบกหรือทางนํ้า

กรณีหลีกเลี่ยงการเสียภาษี บุคคลธรรมดาจะได้รับโทษ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าและเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยไม่รวมเบี้ยปรับและยังมีโทษทางอาญา จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 พันบาท ส่วนผู้ประกอบการที่รับชําระภาษีจากผู้เสียภาษีแล้วไม่นําส่งภาษี ต้องรับโทษเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าและเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยไม่รวมเบี้ยปรับ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไม่ได้เป็นการออกกฎหมายใหม่ เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 และได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกๆ 5 ปี เพื่อไม่ให้กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้มีจำนวนเยอะจนเกินไป และหากกฎหมายดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ ก็จะมีการยกเลิกกฎหมายนั้นไป

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร

 

 ดังนั้นการจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.ก. ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 ซึ่งออกมานานมากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้ ซึ่งหากมีการพิจารณาแล้วว่า ไม่ดีหรือกฎหมายไม่ได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือไม่คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐ หรือประชาชน ก็จะมีการยกเลิกกฎหมายนั้นไป

ทั้งนี้กรมสรรพากรยืนยันว่า การรับฟังความคิดเห็นไม่ได้เป็นการถามเพื่อจะดำเนินการจัดเก็บภาษี แต่เป็นการถามเพื่อประเมินผลเท่านั้น และหากรับฟังความคิดเห็นแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้จัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร กรมสรรพากรต้องไปประเมินผลนั้นอีกครั้งว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวนี้ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้นของการประเมินผลสัมฤทธิ์ แต่ยังมีข้อมูลชุดอื่นๆ ที่จะนำมาพิจารณาประกอบว่า กฎหมายที่ออกไปแล้วมีความเหมาะสมหรือไม่

“กฎหมายที่ออกมาแล้วจะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ ว่าดี หรือไม่ดี เหมาะสม หรือไม่เหมาะสมอย่างไร และส่วนราชการต่างๆ ก็มีการดำเนินการเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากรปีนี้นอกจากภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ยังจะมีการรีวิวหรือประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอีก ทั้งพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ส่วนปีหน้าก็ยังมีกฎหมายตัวอื่นของกรมที่ต้องถูกประเมินผลสัมฤทธิ์อีกมาก” นายลวรณ กล่าว

 อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายออกมาประเมินผลสัมฤทธิ์นั้น กรมสรรพากรจะมีคณะกรรมการคัดเลือกตามกำหนดของกฎหมายตามรอบปีบัญชีและจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรายงานว่า หน่วยงานใดมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องใดบ้างที่จะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ ซึ่งกรมก็จะทยอยดำเนินการประเมินตามกฎหมาย โดยภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรถือเป็นกฎหมายแรกในปี 2566 นี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,886 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566