ไฟเขียว เมืองโบราณศรีเทพ ภูพระบาท ทะเลอันดามัน เป็นมรดกโลก 

27 เม.ย. 2566 | 05:46 น.

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ไฟเขียวดันเมืองโบราณศรีเทพ ภูพระบาท ทะเลอันดามัน เป็นมรดกโลก กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ปกป้องโบราณสถาน เลี่ยงรถไฟฟ้าสายสีม่วง

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รอง นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้นำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ "ทะเลอันดามัน" เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก พร้อมทราบความคืบหน้าการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ "เมืองโบราณศรีเทพ และภูพระบาท" เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย

ดันมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

สำหรับนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ "ทะเลอันดามัน" เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.ระนอง ,จ.พังงา และจ.ภูเก็ต จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ความรักความหวงแหน และเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวจากทั่วโลก ส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของชุมชนและของประเทศ ต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ "เมืองโบราณศรีเทพ และภูพระบาท" เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ล่าสุดมีความก้าวหน้าไปมาก อย่างน่าพอใจ โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ห้วง 10-25 ก.ย.66 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ทั้งนี้ในการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งรัดดำเนินการ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ปกป้องโบราณสถาน ใกล้สายสีม่วง

พล.อ.ประวิตร ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2566 โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ที่ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หาพื้นที่ใกล้เคียงเป็นทางขึ้น-ลง รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สถานีบางขุนพรหม โดยไม่ให้รบกวนโบราณสถาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ให้หลีกเลี่ยงตำแหน่งทางขึ้น-ลงที่จะมีผลกระทบกับอาคารเก่าที่มีคุณค่าและโบราณสถานสำคัญ เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ รฟม.ประสานกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการต่อไป และได้เห็นชอบโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ทั้ง 12 เมืองได้แก่ เมืองเก่ากำแพงเพชร เพชรบุรี ตะกั่วป่า แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง และ ฉะเชิงเทรา