ราช กรุ๊ป กางแผนความยั่งยืน ร่วมมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บริหารจัดการคาร์บอน

18 มี.ค. 2566 | 05:45 น.

"ราช กรุ๊ป" ร่วมมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ 5 หมื่นไร่ภายในปี 2568 ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดการความหลากหลายทางชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน พร้อมเผยแผน 3 มิติความยั่งยืน

"ชูศรี เกียรติขจรกุล" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 ราช กรุ๊ป ได้จัดทำแผนด้านความยั่งยืน 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านเศรษฐกิจ ใน 5 ด้าน คือ ด้านการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความผูกพันกับชุมชน สิทธิมนุษยชน การบริหารซัพพลายเชน และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
    

 

ล่าสุด ได้จับมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าจำนวน 5 หมื่นไร่ ภายในปี 2568 ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินงานด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นมิติด้านสภาพแวดล้อม ราช กรุ๊ป มีเป้าหมายดำเนินการทุกอย่างเรื่อง ESG( Environment, Social, และ Governance) เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)

 

ส่วนด้านสังคม จะมีเรื่องความผูกพันกับชุมชน และสิทธิมนุษยชน ตั้งเป้าปี 2030 (พ.ศ.2573) ราช กรุ๊ปต้องมีโครงการเพื่อสังคมในระดับประเทศ ตอบสนองกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติและจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลย 

ส่วนด้านเศรษฐกิจ คือ การบริหารซัพพลายเชน และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ส่วนของซัพพลายเชน ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ต้องมีการประเมินความเสี่ยงทุกซัพพลายเชนด้าน ESG 100% ส่วนปี 2026 (พ.ศ.2569) ระดับความพึงพอใจของ ลูกค้าทุกกลุ่มต้องอยู่ท่ีไม่น้อยกว่า 90% 
    

“ธนพงศ์ ดวงมณี” ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เรื่องของป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันมีพื้นที่การทำงานอยู่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา อุทัยธานี กำแพงเพชร กระบี่ มีพื้นที่ป่าโดยรวม 47,035 ไร่ ทำงานร่วมกับชุมชน 50 แห่ง มีประชาชนในชุมชนที่ได้รับประโยชน์แล้ว 4.2 หมื่นคน 
    

 

การทำโครงการนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าการลดก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันในปี 2065 (พ.ศ.2608) โดยการทำงานร่วมกับ ราช กรุ๊ป นอกจากช่วยลดคาร์บอนได้ราว 3,000-5,000 ตันต่อปี ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ทำให้เศรษฐกิจภายในชุมชนได้รับการพัฒนาประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,870 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2566